วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

รายการคืนความสุข 'ประยุทธ์' วอนสังคมหยุดสร้างวาทกรรมโจมตีรัฐบาล



Fri, 2015-04-17 22:20

ยืนยันรัฐบาลและ คสช.ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ พร้อมทั้งเปิดแผนโครงการคมนาคมที่รัฐบาลริเริ่มและเร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรม ทั้งรถไฟฟ้า พัฒนาสนามบิน "สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต-อู่ตะเภา" วอนสังคมหยุดสร้างวาทกรรมขึ้นมาโจมตีรัฐบาล


17 เม.ย. 2558 เว็บไซต์ ThaiPBS รายงานว่ารายการคืนความสุขให้คนในชาติประจำวันที่ 17 เม.ย.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขยายความเรื่องการแถลงผลงานรอบ 6 เดือนของรัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจซึ่งนายกฯ โดยยืนยันว่ารัฐบาลและคสช.ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ พร้อมทั้งเปิดแผนโครงการคมนาคมที่รัฐบาลริเริ่มและเร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรม ทั้งรถไฟฟ้า พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต-อู่ตะเภา วอนสังคมหยุดสร้าง "วาทกรรม" ขึ้นมาโจมตีรัฐบาล

เนื้อหาที่นายกฯ พูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติวันนี้ บางส่วนเป็นประเด็นเดียวกับที่กล่าวในการแถลงนโยบายรอบ 6 เดือนของรัฐบาล ซึ่งจัดขึ้นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา 9.00 น. โดยระบุว่าการบริหารราชการมีความคืบหน้าในหลายด้าน แต่ในส่วนของการปฏิรูปถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่จะต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจาก "กับดักทางการเมือง" อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ในตอนท้าย นายกฯ ได้มอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจมาชี้แจงผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในรอบ 6 เดือน

นายกฯ ย้ำถึงผลงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาลว่าได้ทำตามแนวนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศของรัฐบาล 11 ด้านที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 12 ก.ย.2557 ซึ่งโจทย์สำคัญของประเทศและรัฐบาลก็คือการสร้างความสามัคคีและปรองดองของคนในชาติ และแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีปัญหามานานนับ 10 ปี ไม่มีการสร้างความเข้มแข็งหรือเตรียมความพร้อม ทำให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

แต่หลังจากที่คสช.และรัฐบาลเข้ามาบริหาราชการแผ่นดินได้ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะแย่ โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.3 สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพบว่าเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 ดุลการค้าและดุลบริการของประเทศยังคงเกินดุล และเมื่อรวมกับดุลเงินทุนแล้ว ประเทศไทยยังมีดุลการชำระเงินที่เกินดุล ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทบ้าง แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดูแลอยู่อย่างใกล้ชิดและมีมาตรการที่รองรับไว้ตลอดเวลา ด้านเสถียรภาพภาคการคลัง รัฐบาลยังคงมีการจัดเก็บรายได้ที่สูงกว่าปีที่แล้ว โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.57- มี.ค. 58) จัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 973,952 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3.5

"ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาที่มีผลกระทบโดยตรงต่อพี่น้องเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และธุรกิจ SME ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หาทางทุกอย่าง ไม่ได้หยุดคิดเลยนะครับว่าทำยังไงราคาสินค้าทางการเกษตรที่ตกต่ำให้มีราคาสูงขึ้น"

นายกฯ ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการคมนาคมสำคัญๆ ซึ่งรวมถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ที่กำลังถูกประชาชนในพื้นที่และนักอนุรักษ์ต่อต้านอย่างหนัก เพราะกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางทะเล และกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมง

โครงการคมนาคมที่นายกฯ ระบุว่าเป็น “เส้นเลือด” หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลนี้ได้ริเริ่ม เร่งรัด ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่

1) การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองจะมีการส่งมอบรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) 489 คัน (จาก 3,183 คัน) ในเดือนกรกฎาคม 2558

2) Motorway 3 เส้นทาง ได้แก่ บางปะอิน – นครราชสีมา (196 กม.) บางใหญ่ – กาญจนบุรี (96 กม.) และ พัทยา – มาบตาพุด (32 กม.) อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบเส้นทาง ฯลฯ เพื่อลงมือก่อสร้างทันที เพื่อให้พร้อมใช้งานในปี 2562

3) รถไฟฟ้าใน กทม. และปริมณฑล10 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กม. โดยสายสีน้ำเงินตะวันออกเปิดให้บริการแล้ว สายสีม่วงเหนือจะเปิดบริการในปี 2559 สายสีน้ำเงินตะวันตกและสายสีเขียวใต้อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะแล้วเสร็จตามกำหนด พร้อมใช้งานในปี 2563 ส่วนสายที่เหลือ 6 สาย อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 ทั้งหมด

4) โครงข่ายรถไฟทางคู่ระหว่างเมือง ระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง 903 กม. ได้แก่ เส้นทางฉะเชิงเทรา–คลอง19–แก่งคอย (106 กม.) เส้นทางมาบกะเบา–ถนนจิระ(132 กม.) เส้นทางถนนจิระ–ขอนแก่น (185กม.) เส้นทางลพบุรี–ปากน้ำโพ(148 กม.) เส้นทางประจวบคีรีขันธ์–ชุมพร(167 กม.) และเส้นทางนครปฐม–หัวหิน (165 กม.) ทั้งหมดจะเริ่มก่อสร้างในปี 2558 และจะแล้วเสร็จในปี 2561

5) ระบบขนส่งโดยสารทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้200,000 คน/วัน และเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทได้ โดยยกระดับท่าเทียบเรือ ทั้ง 19 แห่งเป็น “สถานีเรือ”

"นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ซึ่งขอความกรุณาว่าอย่าขัดแย้งกันมากเลย เราพยายามจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบและเยียวยา ถ้าเราไม่สร้างตรงนี้มันก็เป็นปัญหาอีก ประตูการค้าฝั่งอันดามันเราก็จะไม่มีนะครับ แล้วก็เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน/ปี โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคน/ปี และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานทหารอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 เป็นต้น รวมทั้ง ความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างไทย – จีน และ ไทย – ญี่ปุ่น

นายกฯ แสดงความยินดีกับแรงงานประมงไทย 68 คน ที่รัฐได้ช่วยเหลือให้เดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2558 และยืนยันว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือเยียวยา โดยเบื้องต้นได้จัดให้แรงงานได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้น จัดหาข้าวของเครื่องใช้ มอบเงินช่วยเหลือกลับภูมิลำเนาและการจัดหาสถานที่พักชั่วคราวหากจำเป็นโดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ทำงานร่วมกับอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพราะมีหลายคนยังตกระกำลำบากอยู่ ซึ่งทางรัฐบาลจะตามช่วยเหลือจนครบทุกคน โดยจะมุ่งเน้นการป้องกันการถูกล่อลวง จะทำลายกระบวนการทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ที่ทำผิดกฎหมายไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ได้อีกต่อไป

นายกฯ กล่าวว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้วางรากฐานสำหรับการปฏิรูปประเทศในเบื้องต้น แต่การจะปฏิรูปได้นั้นต้องมีกฎกติการใหม่ ซึ่งรวมทั้งการจัดทำกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศและได้รับการยอมรับ

"ถ้าประชาชนคิดว่าวันนี้เราดีอยู่แล้ว ผมก็ลำบากใจนะ ผมคิดว่าปัญหามีเยอะ ไม่ใช่ข้อแก้ตัว รัฐบาลพยายามทำเต็มที่แล้วก็ยังทำได้เท่านี้ การแก้ปัญหาที่ผ่านมา การลดความเหลื่อมล้ำ เรากำลังเดินมาถูกทางที่ให้เราได้มีโอกาสทำงานตรงนี้ ต้องดูว่าจะร่วมมือกันอย่างไรต่อไป แก้ไขอย่างไร โรดแมปเป็นอย่างไร จะปฏิรูปได้หรือไม่ 6 เดือนที่ผ่านมานั้นรัฐบาลดำเนินการไปแล้วเบื้องต้น แล้วก็พร้อมจะส่งต่อให้รัฐบาลต่อๆ ไป ถ้าได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล และยอมรับกติกาเรื่องการปฏิรูป เราก็สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศ 'มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน' ในทุกระดับ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตนและรัฐบาลว่า สังคมไทยกำลังเป็นสังคมแห่งวาทกรรมที่เชือดเฉือนกันด้วยถ้อยคำมากกว่าให้โอกาสพิสูจน์การทำงาน ซึ่งตนคิดว่ามีที่มาจาก "นิสัยที่ไม่ดี" ของคนไทยส่วนหนึ่ง คือ 1) ไม่ชอบศึกษาอะไรที่เป็นรายละเอียดแล้วรีบวิจารณ์ไปก่อน เช่น เมื่อรัฐบาลพูดเรื่องภาษีก็มีคนโวยวายทันทีว่ารัฐบาลแกล้งคนจน เก็บเงินคนจนอีกแล้ว 2) นิสัยของนักการเมืองที่เป็นนักเลือกตั้งที่คอยฉวยโอกาสโจมตีทุกคนที่พลาด ใช้วาทกรรมเจ็บๆ มาด่าคนที่ตั้งใจทำความดี

"วันนี้รัฐบาลพยายามจะทำเพื่อคนจน ก็มาหาว่ารัฐบาลนี่แกล้งคนจน ไม่มีจะกินอยู่แล้ว เอาแต่ขูดรีดเก็บภาษี ซึ่งผมก็ยังไม่ได้เก็บตรงไหนเลยนะ ประเทศต้องการเงินงบประมาณไปทำให้ประชาชนเติมในสิ่งที่ขาด สร้างความเข้มแข็ง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ก็กลับไปพูดเป็นวาทกรรมว่า อุตส่าห์หาเงินซื้อบ้านแทบตายยังจะมาเก็บภาษีบ้านเราอีก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

"ถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังต้องการความร่วมมือในการแก้ปัญหา ท่านก็พยายามสร้างความเข้าใจผิดไม่คำนึงถึงผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชน เรื่องภาษี ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องส่วนรวม คนไทยหลายคนไม่ชอบเรื่องการเก็บภาษี แต่เมื่อเทียบกับโครงการรถยนต์คันแรก โครงการรับจำนำข้าว คนชื่นชมว่าทำดีเพื่อประชาชน เพราะแต่ละคนได้ประโยชน์ ส่วนรวมเสียประโยชน์ แต่เสียหายเท่าไร อันตรายมาก นักการเมืองเหล่านี้พยายามสร้างความนิยมส่วนตัวและความนิยมของพรรคการเมืองโดยการใช้วาทกรรม ผมว่าเลิกซะทีนะ"

"อย่าไปสร้างวาทกรรมว่าคนจนจะได้ลืมตาอ้าปากสักที ให้ราคาข้าว ราคาผลิตผลการเกษตรสูงๆ เข้าไว้หรือให้ไปผ่อนรถคันแรก คืนภาษีให้ บางคนก็บอกว่าจะไม่ให้คนจนมีโอกาสขับรถเลยหรือไง แล้วมันขับได้ไหมล่ะ ผ่อนเขาไหวไหม แล้วในเมื่อยังไม่สร้างรายได้ให้เขาเลยแล้วไปให้เขาซื้อก่อน เป็นความต้องการเทียมทั้งหมด ผู้ผลิตก็มีการขยายโรงงานไปเยอะแยะแต่วันนี้ขายได้น้อยลง ก็มาบอกว่าเป็นความผิดของรัฐบาล ทั้งๆ ที่ขยายในสมัยใครก็ไม่รู้ ขยายเพราะโครงการรถยนต์คันแรก คนก็ซื้อกันเยอะ ซื้อกันเยอะก็ต้องขยายโรงงาน วันนี้พอไม่มีสตางค์ซื้อ ต้องมาคืนกันหมด ยึดคืนกันหมดนี่ แล้วทำยังไง"

นายกฯ สรุปว่าไม่มีระบบใดที่จะสร้างความปรองดองในประเทศได้ ไม่มีระบบการปกครองใดที่จะทำให้ประเทศเจริญได้หากคนในชาติยังไม่ได้รับการพัฒนา และปรับแนวคิดว่าต้องคำนึงถึงส่วนรวมก่อนส่วนตน และไม่ทำในสิ่งที่เป็นการขัดขวางการเจริญของประเทศ พร้อมกับระบุว่ารัฐบาลจะจับตาดูบุคคลที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย

ในช่วงท้ายของรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้มากล่าวถึงผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมีนายจักรมณฑ์ ผาสุกวานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมพูดคุย ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรสรุปว่า แม้ตัวเลขการส่งออกจะติดลบถึงร้อยละ 4 ใน 3 เดือนแรก แต่รัฐบาลเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศยังแข็งแรงพอควร และยังมีปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจของไทยใน 3 เดือนแรกขยายตัวได้ร้อยละ 3 ขึ้นไป และเชื่อว่าในไตรมาสถัดไป เมื่อการส่งออกกลับมาปกติแล้ว ปัจจัยอื่นๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาดีขึ้น

บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา : Anniversary 1 ปีคืนความสุข




Fri, 2015-04-17 22:13


รายการ ‘บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา’ กลับมาพบกับท่านผู้ชมอีกครั้ง เนื่องในโอกาสพิเศษที่จะเวียนมาครบ 1 ปี ของการคืนความสุขให้กับประชาชนไทย หรือครบ 1 ปีรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 โดยนำเสนอรายการในตอนพิเศษ ว่าด้วยมุมมองจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และมานุษยวิทยา-สังคมวิทยา ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชน

พบกับพิธีกรเจ้าเก่า ‘พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์’ พร้อมแขกรับเชิญ ‘บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ’ นักวิชาการและอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ‘ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี’ นักวิชาการและอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558




Sat, 2015-04-18 10:18


18 เม.ย. 2558 เพจ iLaw รายงานว่าเมื่อวาน (17 เม.ย.) ที่รัฐสภา มีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 ให้สมาชิก สภาปฏิรูป (สปช.) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการอภิปราย ในวันที่ 20 เมษายน ถึง 26 เมษายน 2558 โดยกำหนดเวลาการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก จะเริ่มประชุมในเวลา 09.00 น ถึง 21.00 น. ของทุกวัน ยกเว้นวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน ที่จะเริ่มในเวลา 14.00 น ถึง 21.00 น รวมระยะเวลาอภิปรายทั้งหมด 79ชั่วโมง

สำหรับการแบ่งเวลาอภิปราย จะให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 15 ชม. โดยวันแรกจะใช้เวลานำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ 2 ชม. และเวลาชี้แจง 1 ชม. ส่วนวันต่อๆ ไปจะให้เวลาชี้แจงประมาณ 2 ชม.
ส่วนสมาชิก สปช.จะใช้เวลาทั้งหมด 64 ชม. โดยให้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาทั้ง 18 คณะ คณะละ 30 นาที รวม 9 ชั่วโมง ส่วนสมาชิก สปช. ที่ประสงค์จะอภิปรายจะได้จัดสรรเวลาคนละประมาณ 15 นาที รวม 55 ชั่วโมง

ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญ >>> http://bit.ly/1DtiwUO

ชงยกระดับ 'กองทุนหมู่บ้าน' เป็น 'สถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง'


Sat, 2015-04-18 12:32

ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเตรียมเสนอ ครม. แก้ไขกฎหมายยกฐานะกองทุนหมู่บ้านเป็นสถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง


18 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เปิดเผยว่า เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านที่มีศักยภาพเป็นแหล่งเงินทุนในชุมชนและต้องการส่งเสริมการออมแทนการให้กู้เงินเพียงอย่างเดียว จึงเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองด้วยการยกระดับกองทุนหมู่บ้านเป็น “สถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรมการกองทุนหมู่บ้าน การคัดเลือกคณะกรรมการ การกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ค้ำประกันเงินกู้ให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และให้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านมีความมั่นคงและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

โดยไม่จำกัดเรื่องทุนของกองทุนหมู่บ้านต้องสูงขึ้นมากนัก เช่น อาจมีประมาณ 3-5 ล้านบาท สามารถจัดตั้งได้ แต่จะกำหนดให้สมาชิกต้องออมเงินผ่านสัจจะออมทรัพย์หรือสะสมเงินออมในรูปแบบต่างๆ เช่น สมาชิกต้องมีเงินฝากสะสมสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของสมาชิกทั้งหมดในหมู่บ้าน การมีผลประเมินกองทุนที่มีในระดับเกรดดีหรือดีมาก ผ่านตัวชี้วัดในหลายด้าน มีการจัดทำระบบบัญชีมีมาตรฐาน เพื่อให้หลายกองทุนหมู่บ้านรวมตัวกันเป็นสถาบันการเงินชุมชน มีเป้าหมายให้ได้ตำบลละ 1 แห่ง แล้วแต่ศักยภาพในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการสถาบันการเงินชุมชนเข้ามาบริหารและควบคุมดูแล

คาดว่าในปี 2558 จะเห็นกองทุนหมู่บ้านเกิดขึ้น สถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ประมาณ 2,000 แห่ง เพราะขณะนี้ทั้ง ธ.ก.ส.และออมสิน ได้ส่งเสริมให้มีสถาบันการเงินชุมชนแล้ว จึงต้องการนำทั้งสองแบบเข้ามารวมกันอยู่ในโครงการเดียวกันและใช้ชื่อเดียวกัน สัญลักษ์เดียวกัน รวมทั้งแก้ไขในเรื่องติดปัญหาการฟ้องร้องอ้างตามกฎหมายขัดทรัพย์ เนื่องจากเงินของกองทุนหมู่บ้านเป็นเงินของรัฐ หากมีคดีความผูกพันจะได้รับการพิจารณาเรื่องการอายัดทรัพย์ เพราะเป็นเงินของรัฐ คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาได้ก่อนการจัดงานครบรอบ 14 ปี กองทุนหมู่บ้านในช่วงเดือนกรกฎาคมปีนี้

นายลักษ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า วางเป้าหมายส่งเสริมให้กองทุนหมู่บ้านขยับฐานะเป็นสถาบันการเงินชุมชนในปี 2558 จำนวน 1,500 แห่ง เพราะได้รับมอบหมายให้ดูแลกองทุนหมู่บ้านที่มีผลดำเนินงานดีมาก 10,569 แห่ง และผลดำเนินงานดี 10,015 กองทุน สำหรับกองทุนเกรดดีมากจะให้สินเชื่อเพิ่มต่อยอดอีกจากวงเงิน 1 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาท สำหรับกองทุนเกรดดี จะได้รับสินเชื่อต่อยอดอีก 500,000 บาทต่อกองทุน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้มีแหล่งเงินทุนดูแลตนเอง