วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

คนเชียงใหม่แนะเขียน รธน. ลงโทษแกนนำม็อบ

เวทีรับฟังความเห็น รธน. เชียงใหม่ คนเชียงใหม่เสนอลงโทษแกนนำม็อบ หวั่นซ้ำรอยในอดีต "จำลอง-สนธิ-จตุพร-ณัฐวุฒิ-สุเทพ" ทำให้ประเทศเสียหายมามากแล้ว ด้าน "คำนูณ" ย้ำไม่ได้เขียนสืบทอดอำนาจ
 
4 มี.ค. 2558 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จ.เชียงใหม่ คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.)การมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ใน กมธ.ยกร่างฯ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดโครงการเวทีสัมมนา เรื่อง “การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ” โดยนายคำนูณ  สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ภาพรวมของบ้านเมืองเราเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งขนาดหนักเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึก และรุนแรง ทุกสถาบันถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง แบ่งสังคมไทยเป็นฝักเป็นฝ่าย แม้แต่ในครอบครัวเองความคิดก็ยังไม่ตรงกัน แต่ไม่ว่าใครจะถูกหรือผิด ไม่อาจจะจบลงด้วยฝ่ายใดชนะเด็ดขาด ไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่เราสามารถลบข้อมูลไปได้ เราเสียชีวิตคนไปจำนวนมาก รัฐประหารที่เกิดขึ้นคนทำจริง ๆ ก็ไม่ได้อยากจะทำ แต่จำเป็นต้องทำ เพราะมีความเสียหาย ทั้งเศรษฐกิจและสังคม ประเทศเดินหน้าไม่ได้ แต่เพื่อนบ้านของเราเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว ถ้าเราหยุดชะงักแบบนี้อีกหน่อย เวียดนาม กัมพูชา หรือลาว อาจจะแซงหน้าเราไปได้ ไม่ต้องไปพูดถึงสิงคโปร์ หรือมาเลเซียเลย
 
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จ เกิดการเลือกตั้งแล้วสถานการณ์จะกลับไปเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 หรือไม่ วันนี้ กมธ.ยกร่างฯ กำลังสร้างกฎ เพื่อให้บ้านเมืองดำเนินไปอย่างปกติ เป็นไปตามที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายรับได้ ถ้าจะร่างไม่ให้คนด่าเลย ก็ไม่ยาก แค่เอารัฐธรรมนูญเก่า ๆ มาปัดฝุ่นแล้วให้มีเลือกตั้ง แต่ถามว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้หรือไม่ กลไกต่าง ๆ ที่กมธ.ยกร่างฯ พยายามวางไว้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ที่เราตั้งใจทำ รวมทั้งอยากให้ทุกคนเสนอแนะข้อมูลให้กับเรา ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังเป็นเพียงร่างแรกเท่านั้น ยังสามารถแก้ไขได้ทุกประเด็น
 
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า เรื่องพรรคการเมือง การส่งตัวแทนลงสมัคร พวกเขาฟังเสียงประชาชนแค่ไหน การเลือกตั้งในบ้านเราต้องใช้เงินจำนวนมาก พรรคการเมืองก็ต้องเป็นคนมีเงินสนับสนุน หากจะให้พรรคสนับสนุนลงเลือกตั้งก็ต้องแข่งกันอย่างเข้มข้น สภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การแข่งขันของผู้แทนฯ แต่เป็นการแข่งขันของนายทุนพรรค เราจะฝากอนาคตของชาติไว้กับคนเหล่านี้หรือ การเมืองไม่ใช่คนไปเลือกผู้แทนฯ แล้วผู้แทนฯ ไปเลือกนายกรัฐมนตรี ต้นเหตุความขัดแย้งจริง ๆ มาจากประชาชนบ้านเรามีความเหลื่อมล้ำ โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ช่องว่างระหว่างความมั่งมีกับความยากจน โครงสร้างของรัฐธรรมนูญใหม่ เรามีภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านต่าง ๆ ที่แยกกับระบบบริหารราชการแผ่นดิน มีคนว่าเราสืบทอดอำนาจ ยอมรับว่าสืบทอดแต่เป็นการสืบทอดการทำงาน เพราะการปฏิรูปไม่ใช่จะใช้เวลาแค่ปี หรือสองปีที่จะทำให้สำเร็จ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ได้มีผู้เสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติบทลงโทษแก่ผู้นำม็อบ เอกชน และข้าราชการที่สนับสนุน เนื่องจากที่ผ่านมาบุคคลเหล่านี้ได้ทำให้ประเทศชาติเสียหายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น นายจำลอง ศรีเมือง ในเหตุพฤษภาทมิฬ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  นายจตุพร  พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือแม้แต่กรณีแกนนำ นปช.ที่ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกลุ่ม กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้กลับไม่เคยได้รับการลงโทษแต่อย่างใด ดังนั้นหากไม่มีกฎหมายมาควบคุมเอาไว้อย่างชัดเจน ก็เชื่อว่าจะมีผู้นำม็อบออกมาชุมนุมสร้างความเดือดร้อนแก่ประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน

นักกฎหมายอาสาร้อง คสช. ใช้ ม.44 ให้สั้นที่สุด



Sat, 2015-04-04 22:13
กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ คสช. ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อย่างระมัดระวังในระยะเวลาที่สั้นที่สุด
 
 
4 เม.ย. 2558 กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ออกแถลงการณ์โดยมีรายละเอียดระบุว่า ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรไทยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน อันอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและเกินความจำเป็นหรือเกินกว่าเหตุได้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดกรณีเป็นที่เคลือบแคลงและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐหลายกรณี เพื่อมิให้เป็นเหตุแห่งการสร้างความแตกแยกของคนในชาติอีก กนส. ในฐานะเป็นประชาชนคนไทย จึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย และผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความเรียบร้อย ใช้อำนาจที่มีอยู่นั้นเพื่อให้ความคุ้มครองและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสุจริตใจ สร้างสรรค์ และเสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม และขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 อย่างระมัดระวังในระยะเวลาอันสั้นที่สุด ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุจริตชนและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง

กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.)
4 เมษายน 2558

องค์กรสื่อ SEAPA ชี้ 'มาตรา 44' ไร้หลักประกันตรวจสอบ จนท. หากใช้อำนาจในทางที่ผิด



Sat, 2015-04-04 18:04


องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุถึงกรณีการใช้คำสั่ง 3/2558 ของคสช. ที่ให้สามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่โดยให้อำนาจอย่างกว้างขวาง แต่ในกฎกลับไม่มีเกณฑ์มาตรฐานกรณีสื่อ อีกทั้งยังไม่มีระบบตรวจสอบทำให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสใช้อำนาจในทางที่ผิดได้


4 เม.ย. 2558 องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุในเว็บไซต์ของพวกเขาในกรณีที่ผู้นำเผด็จการไทยประกาศใช้มาตรา 44 จากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แทนกฎอัยการศึก โดยระบุว่าตามปกติแล้วการยกเลิกกฎอัยการศึกจะเป้นสัญญาณการกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างการคืนอำนาจให้พลเรือน แต่ในกรณีล่าสุดของไทยเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนจากกฎอัยการศึกไปใช้คำสั่งที่ให้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตแก่ผู้นำเผด็จการทหารเท่านั้น

SEAPA ระบุอีกว่าคําสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ที่อนุมัติใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้อำนาจในการปฏิบัติการของ คสช. อย่างเต็มที่โดยอ้างเรื่องความสงบ ความมั่นคง หรือเรื่องเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงหลัการพื้นฐานทางการบริหาร หลักนิติบัญญัติ และหลักตุลาการ ซึ่งคำสั่งล่าสุดนี้ถือว่าทำให้มีอำนาจกว้างขวางและมีลักษณะคุกคาม โดยยังสามารถสั่งการแบบเดียวกับกฎอัยการศึกได้ในหลายรูปแบบรวมถึงยังห้ามการชุมนุมและมีการใช้อำนาจควบคุมสื่อ

SEAPA ยังแสดงท่าทีสนับสนุนการร่วมออกแถลงการณ์ร่วมของ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อคำสั่งที่ 3/2558 ของคสช. ซึ่งในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า "เป็นการให้ดุลพินิจกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างกว้างขวาง หากไม่มีหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติที่ชัดเจน" และมีการแสดงความเป็นห่วงว่าควรมีการใช้อำนาจอย่างรอบคอบไม่กระทบสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตาม SEAPA ระบุเปรียบเทียบว่าคำสั่ง 3/2558 มีลักษณะต่างจากกฎอัยการศึกตรงที่คำสั่งดังกล่าวทำให้มีการนำอำนาจที่ควรสงวนไว้เฉพาะสถานการณ์จำเป็นตามที่ระบุในกฎอัยการศึกมาใช้ในยามสถานการณ์ปกติได้ ทำให้การใช้อำนาจพิเศษของกองทัพซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของพลเรือนเป็นอันตรายเนื่องจากไม่มีการอ้างความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นในการใช้อำนาจเหล่านี้ซึ่งควรจะเป็นอำนาจที่ใช้ในยามสงครามหรือเกิดการจลาจลเท่านั้น นอกจากนี้คำสั่งดังกล่าวยังไม่มีการระบุถึงกำหนดเวลาที่ใช้แบบในกฎอัยการศึกซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องตอบคำถามเรื่องความชอบธรรมต่อประชาคมโลกว่าเหตุใดถึงยังต้องมีการดำเนินการในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่

SEAPA ระบุอีกว่าแต่เดิมการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในไทยก็มีปัญหาอยู่แล้วทั้งจากกรณีการเรียกคนรายงานตัวจำนวนมาก การใช้ศาลทหารกับพลเรือน การลักลอบกักขังหน่วงเหนี่ยวประชาชน มีกรณีที่กองทัพถูกกล่าวหาว่าทารุณกรรมผู้ต้องขัง รวมถึงการลิดรอนเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในารแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง คำสั่ง 3/2558 ยังขยายอำนาจให้ผู้นำเผด็จการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อปฏิบัติการแทนรวมถึงให้ผู้นำเผด็จการทหารและตัวแทนของพวกเขาเท่านั้นที่มีดุลยพินิจในการอนุมัติข้อยกเว้นการสั่งห้ามหรือการลงโทษผู้ปฏิบัติการภายใต้คำสั่ง

ทั้งนี้ SEAPA ยังระบุถึงปัญหาของคำสั่ง 3/2558 ในระดับรายละเอียด โดยยกตัวอย่าง 8 ข้อดังนี้

  • 1.) ในข้อที่ 2 ของคำสั่งซึ่งระบุถึงการแต่งตั้ง "เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย" มีปัญหาตรงที่พลเรือนไม่สามารถระบุได้ว่าใครที่เป็นเจ้าหน้าที่ของกองทัพที่ได้รับการแต่งตั้ง และมีกลไกอะไรที่จะป้องกันไม่ให้พวกเขาใช้อำนาจไปในทางที่ผิด
  • 2.) ในข้อที่ 3 ของคำสั่งว่าด้วยการนิยามขอบเขตการกระทำความผิดภายใต้ข้อกำหนดของพวกเขาไม่มีการระบุหน้าที่ของตำรวจอย่างชัดเจน (รวมถึงในมาตราที่ 8) ในการปฏิบัติการสืบสวนและดำเนินคดีให้เหมาะสม
  • 3.) ในข้อที่ 4 ของคำสั่งว่าด้วยการนิยามอำนาจของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ก็ไม่มีการระบุว่าศาลมีบทบาทอย่างไรในกระบวนการมอบอำนาจเหล่านี้ รวมถึงไม่มีกลไกการตรวจสอบเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาใช้อำนาจไปในทางที่ผิด
  • 4.) ในข้อที่ 5 ของคำสั่ง เกี่ยวกับการปิดกั้นสื่อที่มีเนื้อหาบางอย่าง ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานกำหนดว่าเนื้อหาของสื่อแบบใดที่ "สร้างความหวาดกลัว" หรือ "บิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิด" ถ้าหากข้อมูลที่เผยแพร่เป็นข้อมูลจริงที่มีหลักฐาน ข้อมูลจริงนี้จะได้รับความคุ้มครองไม่ถูกปิดกั้นด้วยใช่หรือไม่
  • 5.) ในข้อที่ 6 ของคำสั่ง ว่าด้วยการเรียกตัวหรือกุมขังผู้ต้องสงสัย ทำไมต้องมีการกุมขังไว้ในที่อื่นที่ไม่ใช้สถานีตำรวจ ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา ซึ่งเป็นที่กุมขังตามกระบวนการปกติ
  • 6.) ในข้อที่ 9 และ 10 ของคำสั่ง ซึ่งระบุถึงโทษของผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง มีศาลหรือที่ประชุมทางกฎหมาย (legal forum) แหล่งใดที่รับผิดชอบในการตัดสินความผิดและตัดสินลงโทษการละเมิดคำสั่งเหล่านี้
  • 7.) ในข้อที่ 12 ของคำสั่ง ระบุถึงการห้ามชุมนุมทางการเมือง ถ้าหากว่าการประกาศใช้คำสั่งเป็นไปเพื่อต้องการยกเลิกกฎอัยการศึก เหตุใดถึงยังคงสั่งห้ามกิจกรรมเหล่านี้และมีเกณฑ์มาตรฐานใดที่ใช้พิจารณาให้อนุญาตการชุมนุม
  • 8.) ในข้อที่ 13 และ 14 ของคำสั่ง ซึ่งอ้างว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย "ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง" และระบุว่าเป็น "กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต" แต่ไม่มีกลไกการตรวจสอบใดถ้าเกิดกรณีที่พวกเขาใช้อำนาจไปในทางที่ผิด

             SEAPA ระบุอีกว่ามีคำถามที่สำคัญที่สุดที่อยากจะถามเผด็จการทหารในไทยตอนนี้คือ ทำไมการให้อำนาจอย่างกว้างขวางมีความจำเป็นในตอนนี้ ทั้งในแง่ที่ว่ามันเป็นการโต้ตอบที่เหมาะสมกับสิ่งที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยในสังคมตอนนี้จริงหรือ รวมถึงในแง่ที่ว่าทำไมคำสั่งเหล่านี้ถึงมอบอำนาจให้กับบุคคลคนเดียว

แจ้งความ ปธ.ที่ปรึกษาวัดกัลยาณ์ ม.112




Sat, 2015-04-04 22:23
กรรมการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ชาวบ้านชุมชนวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร แจ้งดำเนินคดีประธานที่ปรึกษาวัดข้อหาแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112

4 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายเชียรช่วง กัลยาณมิตร กรรมการสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายชัยสิทธิ์ กิตติวณิชพันธุ์ ประธานชุมชนวัดกัลยาณ์ นำกลุ่มชาวบ้านชุมชนวัดกัลยาณ์ประมาณ 50 คน เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ให้ดำเนินคดีกับนายวัชรา พรหมเจริญ ประธานที่ปรึกษาวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ในข้อหาแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112

กรณีเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา นายวัชราให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ทางรายการคมชัดลึก โดยระบุว่า ที่วัดมีโครงการบูรณะโบราณสถานในเขตพุทธาวาส และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงให้พระบรมราชูปถัมภ์เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะโครงการบูรณะดังกล่าวเป็นโครงการบูรณะเฉพาะในเขตพุทธาวาส ประกอบด้วย 4 โบราณสถาน คือพระวิหารหลวง พระวิหารน้อย หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ และพระอุโบสถ ซึ่งแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่ถูกทุบทำลายแต่อย่างใด แม้นายเชียรช่วงซึ่งนั่งฟังสัมภาษณ์อยู่ในรายการจะห้ามปรามแล้ว แต่นายวัชราก็ยังไม่หยุดพาดพิงถึงพระบรมราชโองการ ทำให้ประชาชนที่ติดตามรายการอาจจะเข้าใจผิด ในวันนี้นายเชียรช่วง ในฐานะทายาทของตระกูลกัลยาณมิตร ผู้บริจาคที่ดินในการสร้างวัด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ได้นำหลักฐานเป็นแผ่นซีดีบันทึกเทปรายการดังกล่าว และหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ มามอบให้พนักงานสอบสวน

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนรับเรื่องไว้และจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำต่อไป