วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สภายุโรปประณามรบ.ทหารไทย หยุดละเมิดสิทธิฯ คืนปชต. - กต.ผิดหวังชี้เข้าใจคลาดเคลื่อน


มติสภายุโรปประณาม รบ.ทหารไทย-ร้องให้กลับสู่ประชาธิปไตย ปล่อยนักโทษการเมืองและยุติละเมิดสิทธิแรงงาน-สิทธิมนุษยชน ด้าน กต. แถลงผิดหวังมติดังกล่าวชี้เป็นท่าทีตามค่านิยมที่ยุโรปยึดถือ แจงเข้าใจสถานการณ์คลาดเคลื่อน
9 ต.ค. 2558  บีบีซีไทย - BBC Thai เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา สภายุโรปมีมติประณามรัฐบาลทหารของไทยและเรียกร้องให้กลับสู่หลักประชาธิปไตย ปล่อยนักโทษการเมืองและยุติการละเมิดสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน
โดยมติดังกล่าวระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลทหารได้ยึดอำนาจโดยการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นั้นมีแรงกดดันจากนานาชาติตอกรณีของแรงงานทาสในกิจการประมงและอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋อง รวมถึงมีการฟ้องร้องนักกิจกรรมชาวอังกฤษที่พยายามเปิดเผยเรื่องดังกล่าว
โดยการหารือพิเศษนี้ 17 สมาชิกสภายุโรปจาก 14 ประเทศได้ประณามรัฐบาลทหารเรื่องความล่าช้าในการจัดการเลือกตั้ง กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และรวมถึงการใช้ศาลทหารไต่สวนพลเรือน รวมถึงการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพสื่อ
นายคริสโตส สไตเลนไนเดส กรรมการด้านมนุษยธรรมและการจัดการภาวะวิกฤต สภายุโรปได้กล่าวเตือนรัฐบาลไทยว่าสหภาพยุโรปได้เพิ่มระดับการจับตากรณีสำคัญๆ ด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานในอุตสาหกรรมประมง รวมถึงผู้บริโภคในยุโรปก็เพิ่มความตระหนักต่อวิธีการผลิตอาหารทะเลของไทย รวมถึงเรียกร้องความโปร่งใสในการรับผิดชอบทางสังคมของสายการผลิตด้วย
ขณะที่สมาชิกจากอิตาลี นายอิกนาซิโอ คอร์เรโร ชี้ว่าแม้ไทยจะมีภาพลักษณ์ที่สวยงามด้านการท่องเที่ยว แต่ว่าตั้งแต่มีการรัฐประหาร ภาพที่เห็นคือการการกดขี่และความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น และสภายุโรปจะยังคงกดดันรัฐบาลไทยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจที่มีเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างกระบวนการประชาธิปไตย และในประเด็นนี้ นายมาร์ค ทาราเบลลา สมาชิกจากเบลเยียมแสดงความกังวลต่อกรณีปิดกั้นเว็บไซต์นับร้อยเว็บ และไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้
ด้านผู้แทนจากสาธารณรัฐเช็กระบุว่าพัฒนาการของไทยนั้นไม่อาจกล่าวถึงได้ในแง่บวก แต่ก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้างเมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นายฟิล โรเบิร์ตสัน จาก ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ให้ข้อมูลกับสภายุโรปว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะกดดันรัฐบาลทหารของไทยซึ่งมีแผนจะอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน อย่างน้อยที่สุดก็ถึงปี 2560
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดทั้งสิ้น 23 ข้อ โดยเนื้อหายังคงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้ไทยหวนคืนกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว แสดงความห่วงกังวลถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ยกเลิกการควบคุมสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมถึงสิทธิในการแสดงออกเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกทางการเมือง ให้รัฐบาลไทยยกเลิกโทษ ถอนข้อกล่าวหา และปล่อยตัวบุคคลและสื่อสารมวลชนที่ถูกตั้งข้อหาจากการปฏิบัติตามสิทธิและเสรีภาพ ส่งต่ออำนาจในการตัดสินความผิดพลเมืองจากศาลทหารไปยังศาลพลเรือน อียูแสดงความสนับสนุนให้ยังคงมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจและการเมือง ย้ำว่าจะยังไม่มีการเจรจาเรื่องเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และข้อตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนและ ความร่วมมืออย่างรอบด้าน (พีซีเอ) ระหว่างอียูและไทยตราบใดที่รัฐบาลทหารของไทยยังคงอยู่ในอำนาจ
กต.เผยผิดหวังมติสภายุโรป ชี้เข้าใจสถานการณ์คลาดเคลื่อน
วันเดียวกัน เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ความเห็นต่อมติของสภายุโรปดังกล่าวว่า เป็นการแสดงท่าทีโดยหลักการตามค่านิยมที่ยุโรปยึดถือ และเป็นท่าทีและความห่วงใยในฐานะมิตรประเทศในประเด็นต่าง ๆ เช่น การดำเนินการตาม Roadmap การเลือกตั้ง การร่างรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยรับทราบและดำเนินการอยู่แล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้
ไทยผิดหวังต่อข้อมติของสภายุโรป ที่แสดงถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานการณ์และพัฒนาการในด้านต่างๆ ของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเคารพในพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด และยึดมั่นดำเนินการตาม Roadmap เพื่อมุ่งไปสู่การเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ข้อมติได้ย้ำว่าไทยและสหภาพยุโรปเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญและมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยข้อมติเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ข้อมติดังกล่าวได้แสดงความชื่นชมไทยและสนับสนุนไทยในหลายด้าน เช่น ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การผ่าน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศ และรับทราบถึงความมุ่งมั่นของไทยในการออกมาตรการขจัดการค้ามนุษย์ และการแก้ปัญหาแรงงานในภาคประมงตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ข้อมติยังได้ยอมรับถึงพัฒนาการทางเมือง ในการที่ไทยแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ และการดำเนินการตาม Roadmap ที่ชัดเจน อันจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ตลอดจนแสดงความเชื่อมั่นการทำหน้าที่ของไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – สหภาพยุโรป
ในการนี้ ไทยพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ มีความสมดุล และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง และพร้อมที่จะร่วมมือกับสหภาพยุโรปในทุกมิติและทุกระดับ ตลอดจนจะทำหน้าที่ผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน – สหภาพยุโรปอย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาคให้มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น