วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

พม่าคุมตัวนักข่าวโพสต์ภาพล้อรัฐบาล-ทหาร

ช่างภาพอิสระชาวพม่าถูกจับตัวหลังโพสต์เฟซบุ๊กล้อเลียนกองทัพ
Tue, 2015-03-03 18:10

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวเผย "อ่องเนเมียว" นักข่าวพม่าถูกตำรวจถูกจับกุม และกล่าวหาว่าโพสต์ภาพตัดต่อและข้อความเสียดสีเป็นภัย ขัดขวาง และก่อกวนรัฐบาล และจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึงมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี

3 มี.ค. 2558 - คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists: CPJ) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนักข่าวในพม่าตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 ก.พ.) จากการโพสต์ภาพเสียดสีรัฐบาลพม่าในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนจะปล่อยตัวเขาโดยไม่แจ้งข้อหาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (2 มี.ค.)

อ่องเนเมียว ช่างภาพข่าวอิสระถูกจับกุมตัวที่บ้านของเขาในเมืองมงยวะโดยถูกกล่าวหาว่าละเมิดพระราชบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 1950 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นบ้านของเขา โดยบอกตอนแรกว่าจะค้นยาเสพติด ก่อนที่ต่อมาจะยึดสมุดบันทึก แลปทอป แฟลชไดรฟ์ และอุปกรณ์โทรทัศน์วงจรปิด

"การควบคุมตัวอ่องเนเมียวโดยไม่มีหมายจับในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการส่งสัญญาณถึงนักข่าวทั้งหลายว่าพวกเขาอาจเป็นรายต่อไปหากยังวิจารณ์สถานการณ์ความมั่นคงที่ย่ำแย่ในพื้นที่ขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มในพม่า” ชอน คริสปิน ตัวแทน CPJ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวและว่า “เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเต็งเส่งหยุดการใช้กฎหมายความมั่นคงภายในในการคุกคามสื่อและเปิดให้ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากสองฝ่ายในพื้นที่ขัดแย้งอย่างอิสระ”

ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาดังกล่าวมาจากภาพที่อ่องเนเมียวโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเป็นภาพโปสเตอร์หนังเกี่ยวกับการต่อสู้ปี 1971 ระหว่างกบฏคอมมิวนิสต์ที่หนุนหลังโดยจีนและกองทัพพม่า โดยมีภาพผู้นำรัฐบาลพม่าปัจจุบันและภาพมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า ซ้อนขึ้นมาในลักษณะเสียดสี

ภาพดังกล่าวถูกโพสต์หลังจากมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่า “ทหารรับจ้างจีน” ให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฏชาติพันธุ์โกก้าง ใกล้ชายแดนร่วมของสองประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ หลังการปะทะกันของกองกำลังสองฝ่าย ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 70 คน

อ่องเนเมียวถูกจับกุมจากการร้องเรียนของตำรวจสันติบาลไปยังสถานีตำรวจมงยวะโดยระบุว่า ภาพตัดต่อและข้อความเสียดสีเป็นภัย ขัดขวางและก่อกวนรัฐบาล ตำรวจยังจะแจ้งข้อหาเขาและบุคคลซึ่งไม่ระบุชื่อในข้อหาสมรู้ร่วมคิดตาม พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี

งานวิจัยของ CPJ ระบุว่า นักข่าวมักตกเป็นเป้าในพื้นที่ขัดแย้งซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธในพม่า รวมถึงทางตะวันออกของรัฐฉานและทางเหนือของรัฐคะฉิ่น ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า อ่องจ่อนาย ผู้สื่อข่าวอิสระถูกยิงเสียชีวิตที่รัฐมอญเมื่อเดือนตุลาคม ขณะอยู่ในการควบคุมตัวของทหาร ผลชันสูตรศพพบว่าเขาอาจจะถูกซ้อมทรมานก่อนจะถูกสังหาร ทั้งนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารคนใดต้องรับผิดชอบต่อการตายครั้งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น