วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สำนักข่าวต่างประเทศเผยสหรัฐฯ หนุนสร้างกองทัพนิกายซุนนีสู้ 'ไอซิส' ในอิรัก

สำนักข่าวโกลบอลโพสต์รายงานว่าทางการสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งกองกำลังป้องกันชาติของอิรัก และพยายามติดอาวุธชนเผ่านิกายซุนนีรวมถึงช่วยประสานงานกับรัฐบาลกลางซึ่งดูไม่ค่อยไว้ใจกองกำลังในพื้นที่ห่างไกล แม้ว่าพวกเขาจะมีเป้าหมายต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส' ก็ตาม

19 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์เปิดเผยในรายงานว่าทางการสหรัฐฯ มีแผนการเสริมกำลังอาวุธให้กับกลุ่มชนเผ่านิกายซุนนีเพื่อเสริมกำลังให้กับ 'กองกำลังป้องกันชาติ' ของอิรัก (national guard) จากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยสนับสนุนกฎหมายให้มีการจัดตั้งกองกำลังป้องกันชาติอิรักเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
รายงานของโกลบอลโพสต์ระบุว่าการกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ เป็นไปเพื่อทำให้ชาวนิกายซุนนีเลิกหันไปสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส' ด้วยการส่งอาวุธและเสบียงช่วยเหลือกลุ่มนักรบนิกายซุนนีรวมถึงกลุ่มนักรบชนเผ่าผ่านทางรัฐบาลอิรัก โดยหวังว่ากลุ่มกองกำลังป้องกันชาติของอิรักและกลุ่มกองกำลังชนเผ่าจะสามารถยึดครองพื้นที่ของชนเผ่านิกายซุนนีที่ถูกกลุ่มไอซิสยึดไปกลับคืนมาได้
โกลบอลโพสต์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเป็นเจ้าหน้าที่ทหารอิรักในฐานทัพใกล้กับเมืองโมซูลที่ถูกยึกครองโดยกลุ่มไอซิสอยู่ตอนนี้ เจ้าหน้าที่ทหารอิรักได้หารือกับเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ที่อ้างตัวเองว่าเป็นหน่วยข่าวกรองกลางหรือซีไอเอซึ่งพยายามแสดงตัวในเชิงให้ความช่วยเหลือและถามไถ่ถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ
นอกจากนี้ยังมีแหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าทางการสหรัฐฯ ติดต่อกับกองกำลังในอิรักเพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือจัดการให้กับกลุ่มชุมชนนิกายซุนนีที่อยู่ห่างไกลและกำลังรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิรัก เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุอีกว่ากฎหมายกองกำลังป้องกันชาติอิรักเป็นเป้าหมายระยะยาว โดยพวกเขาต้องการทำให้กลุ่มนักรบชนเผ่าหลอมรวมเป็นกองกำลังป้องกันชาติหลังจากที่มีการจัดตั้งแล้ว
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการบุกยึดเมืองโมซูลคืนจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ โกลบอลโพสต์ระบุว่าชาวอิรักยังคงมีความไม่เชื่อใจกันระหว่างนิกายซึ่งปัญหานี้ฝังรากลึกมากขึ้นหลังจากการเติบโตของกลุ่มไอซิส ชาวนิกายชีอะฮ์ส่วนมากซึ่งเป็นนิกายที่มีอำนาจในรัฐบาลกลางอิรักกล่าวหาว่าชาวนิกายซุนนีมีส่วนในการทำให้กลุ่มไอซิสแผ่ขยายอำนาจไปทั่วภาคเหนือของอิรักและในจังหวัดอันบาร์ทางภาคตะวันตก
แต่ชาวนิกายซุนนีเองโดยเฉพาะในโมซูลก็รู้สึกว่าพวกตนอยู่ในภาวะยากลำบากภายใต้การปกครองที่โหดร้ายของกองกำลังนิกายชีอะฮ์จากรัฐบาลอัลมาลิกิ ทำให้พวกเขายอมรับการรุกรานของกลุ่มไอซิสในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีทหารอิรักที่ประจำอยู่ในเมืองโมซูลส่วนหนึ่งยอมรับว่าพวกเขาหนีออกจากฐานที่มั่นในเมืองโมซูลโดยทิ้งอาวุธเอาไว้ในช่วงที่ไอซิสบุกโจมตี
รายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าช่วงที่เมืองโมซูลถูกรุกรานผู้นำทัพในเมืองนั้นก็มีกำลังคนอยู่น้อยและมีทรัพยากรน้อยอยู่แล้ว และเมื่อพวกเขาขอให้มีการเสริมกำลังจากรัฐบาลกลาง รัฐบาลกลางอิรักก็ปฏิเสธ และแม้ว่ากองกำลังส่วนหนึ่งต้องการจะยึดเมืองคืนก็ทำไม่ได้เพราะพวกเขาต้องการอาวุธและการฝึกฝนแต่ก็ถูกมองอย่างไม่เชื่อใจทั้งจากรัฐบาลกลางและผู้มีอำนาจในเขตปกครองตนเองในพื้นที่ชาวเคิร์ด
ไม่ไกลจากฐานทัพโดบาร์ดาน นอกเมืองโมซูล มีด่านตรวจของกลุ่มนักรบติดอาวุธชาวเคิร์ดชื่อกลุ่มเพชเมอร์กา ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะมีศัตรูเดียวกันคือกลุ่มไอซิส แต่ก็ยังคงไม่ไว้ใจกองทัพของอิรักในพื้นที่ชาวนิกายซุนนีจึงไม่มีการช่วยเหลือใดๆ อีกทั้งยังคิดว่าครึ่งหนึ่งของกองกำลังนอกเมืองโมซูลเป็นพวกเดียวกับกลุ่มไอซิส
แต่หลังจากที่สหรัฐฯ กดดันรัฐบาลอิรัก พวกเขาก็ยอมส่งอาวุธส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยฐานทัพนอกเมืองโมซูลได้รับปืนกลหนัก 30 ชุด และปืนอาก้า 2,000 กระบอก ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ทางการกลางอิรักสัญญาว่าจะส่งให้ นายพลคาเล็ด อัลฮัมดานี ผู้บัญชาการฐานทัพโดบาร์ดานกล่าวว่าพวกเขาคิดมาตลอดว่าคงได้รับการสนับสนุนอาวุธจากทางการสหรัฐฯ ก่อน เพราะสหรัฐฯ ดูจริงจังกว่า ขณะที่คิดว่ารัฐบาลของพวกเขาไม่จริงจัง
ถึงกระนั้นก็มีผู้นำทหารบางคนที่รู้สึกว่าการพยายามช่วยเหลือของสหรัฐฯ ยังไม่มากพอและยังช้าเกินไป พันเอกอิบราฮิม อัลฮัมดานี กล่าวว่าพวกเขายังต้องการการฝึกซ้อมอาวุธมากกว่านี้
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ก็มองว่าแผนการของสหรัฐฯ ในการติดอาวุธให้กลุ่มชนเผ่านิกายซุนนีเป็นแผนอันตรายที่อาจจะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นระหว่างนิกายเนื่องจากการติดอาวุธ
เคน พอลแล็ก นักวิเคราะห์อิรักจากสถาบันบรูกกิงส์กล่าวว่ากองกำลังป้องกันชาติของอิรักมีบทบาทสำคัญมากในการต่อสู้กับกลุ่มไอซิสและการรวมประเทศอิรักให้เป็นหนึ่งเดียว โดยจะต้องมีระบบการรวมศูนย์ซึ่งให้ชาวนิกายซุนนีมีกองทัพของตนเอง พอลแล็กยังมองว่าการส่งอาวุธให้จำนวนไม่มากแก่ฐานทัพโดบาร์ดานเป็นแค่การสร้างภาพว่าได้ให้การช่วยเหลือตามคำขอของทางการสหรัฐฯ แล้วเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วควรจะมีการร่วมเจรจาตกลงอย่างเป็นทางการผ่านร่างกฎหมายในเรื่องการดำรงอำนาจร่วมกันของทั้งสองนิกายถึงจะเป็นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น