วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ศาลปกครองสูงสุดกำหนดนั่งพิจารณาคดี น.ศ.ยะลาฟ้องทัพบก เหตุถูกซ้อมทรมาน ม.ค.58

             กรณีสองนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาฟ้องกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม โดยระบุถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน และมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554
             ล่าสุด (18 ธ.ค. 2557) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ส่งใบแจ้งข่าวระบุว่า ได้รับหมายแจ้งจากศาลปกครองสูงสุดกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกในวันที่ 13 มกราคม 2558 เวลา 09.30 น. ที่ศาลปกครองสูงสุด ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 12 ซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีสิทธิยื่นคำแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล ก่อนหรือในวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และในวันนั่งพิจารณาครั้งแรกคู่กรณีก็สามารถขออนุญาตศาลเพื่อแถลงด้วยวาจาได้อีกด้วย 
             คดีนี้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ศาลปกครองสงขลาได้อ่านคำพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายระหว่างนายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดี ที่ 1 และนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่ 2 กับกองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กองทัพบก) ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง โดยชำระเงินแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 255,000 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 2 จำนวน 250,000 บาท เนื่องจากควบคุมตัวไว้เกินกำหนด 7 วันตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457  อีกทั้งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษอันเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของบุคคลอื่น จึงควรต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและต้องแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่บุคคลซึ่งรับผลดังกล่าว กรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังทำร้ายผู้ฟ้องคดีทั้งสองในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ยื่นพยานหลักฐาน จึงน่าเชื่อว่าบาดแผลตามที่แพทย์วินิจฉัยไว้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ฟ้องที่ 1 จำนวน 5,000 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ ว่าถูกการกระทำร้ายร่างกาย ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ ส่วนคำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กระทรวงกลาโหม)
            ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก ให้รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดภาคใต้ซึ่งอยู่ในสังกัดของตนที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 รวมถึงเรียกค่าเสียหายในส่วนของการทำร้ายร่างกายและการซ้อมทรมาน และผู้ฟ้องคดีไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าวบางส่วน จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 โดยมีประเด็นการอุทธรณ์ดังต่อไปนี้
  • 1. การรับฟังข้อเท็จจริงของศาลปกครองสงขลาปราศจากพยานหลักฐานและคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคดี เนื่องจากไม่ปรากฏว่าพบเอกสารหรือไฟล์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามที่ศาลมีคำพิพากษาแต่อย่างใด
  • 2. การควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากมีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน
  • 3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการซ้อมทรมานและการเสียศักดิ์ศรีถูกดูหมิ่นและค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32
  • 4. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จัดการให้ชื่อเสียงของผู้ฟ้องคดีทั้งสองกลับคืนดีโดยจัดให้มีประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับละสามวันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจง หรือหนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องคดี

        สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ระบุว่า คดีนี้นับว่าเป็นคดีแรกที่เหยื่อผู้ถูกควบคุมตัวและซ้อมทรมานตามอำนาจของกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานรัฐ (กองทัพบกและกระทรวงกลาโหม) ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต้องอาศัยความกล้าหาญและเข้มแข็งอย่างมากในการตัดสินใจฟ้องและดำเนินคดีถามหาความเป็นธรรมและการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ทหารผู้ทำละเมิด  โดยหวังว่าการใช้สิทธิตามระบบกระบวนการยุติธรรมนี้จะส่งผลให้หน่วยงานแก้ไขปรับปรุงบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ เพื่อดำรงหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้คงอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น