วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

"สหภาพรัฐสภาสากล" ส่งหมายเตือนการทำหน้าที่ ปปช. กรณีไม่เป็นกลางตัดสิทธิ์ 308 ส.ว.-ส.ส. ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ

"สหภาพรัฐสภาสากล" ส่งหมายเตือนการทำหน้าที่ ปปช. กรณีไม่เป็นกลางตัดสิทธิ์ 308 ส.ว.-ส.ส. ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ






เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 เม.ย. ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.ภูวนิดา คุณผลิน อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ฐานะคณะทำงานฝ่ายต่างประเทศพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการเดินทางไปยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสหภาพรัฐสภาสากล (ไอพียู) เพื่อขอให้ไอพียูย้ำเตือนประเทศไทยกรณีการบังคับใช้กฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) หลัง ส.ส.และส.ว.308 คนถูกกล่าวหาว่าล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และถูกยื่นถอดถอนสิทธิทางการเมืองโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

น.ส.จารุพรรณ กล่าวว่า ภายหลังการยื่นหนังสือในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยขอให้ไอพียูตรวจสอบองค์กรที่กำลังตรวจสอบกรณี 308 ส.ส.และ ส.ว.ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ และขอให้ตรวจสอบการถอนประกันนายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฐานะแกนนำ นปช.ในคดีการก่อการร้าย และกรณีการสอบสวนโครงการรับจำนำข้าว โดยล่าสุดไอพียูได้แจ้งมายังคณะทำงานฯ ว่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวและส่งหมายเตือนไปยังประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศทั้งไอพียู สหประชาชาติ และนานาประเทศกำลังติดตามว่าองค์กรอิสระที่มีอำนาจเทียบเท่าศาลอย่างป.ป.ช.ที่มีการตรวจสอบเรื่องต่างๆ โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปสังเกตการณ์ได้ จะอธิบายความเป็นนิติรัฐ นิติธรรมได้ยากลำบาก ดังนั้นองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลและคุ้มครองหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน จึงต้องตรวจสอบการพิจารณาคดีอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หากเจ้าพนักงานงานยุติธรรมคนใดละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศจะถูกขึ้นบัญชีดำในระดับนานาชาติได้ ทั้งนี้ ทุกเรื่องจะถูกตัดสินในวันที่ 18 เม.ย.นี้ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมติดตาม

เมื่อถามว่าหาก ป.ป.ช.ยืนยันว่าการตรวจสอบดังกล่าวเป็นกระบวนการภายในประเทศ องค์กรต่างชาติไม่สามารถก้าวก่ายได้ น.ส.จารุพรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีอนุสัญญาต้องยึดตามกรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยต้องให้ความสำคัญถึงสิทธิในการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ เรื่องการตรวจสอบ 308 ส.ส. และ ส.ว.ว่ามีความผิดล้มล้างประชาธิปไตยเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่มีผู้คนให้ความสนใจ รวมถึงเรื่องการถอนประกันนายณัฐวุฒิและนายจตุพรซึ่งจะมีผลในวันที่ 18 เม.ย. ทำให้สงสัยว่าเป็นการกลั่นแกลงทางการเมืองหรือไม่ นานาอารยะประเทศจึงให้ความสำคัญ

น.ส.ภูวนิดา กล่าวว่า การไปยื่นหนังสือของคณะทำงานฯ ดำเนินการไปตามหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาไทย โดยอยากให้ไอพียูพิจารณาตรวจสอบและติดตามกระบวนการยุติธรรมและการอำนวยความยุติธรรมของไทย เพื่อให้มีพัฒนาการที่เป็นมาตรฐานสากล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น