วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554


คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยสองแนวรบ สองกองทัพ!

คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยสองแนวรบ สองกองทัพ!
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 324 ประจำวัน จันทร์ ที่ 22 สิงหาคม 2011
         โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

1.เผด็จการมุ่งตอกลิ่มคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย

การที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมสำเร็จถือเป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของฝ่ายประชาธิปไตย และเป็นการถดถอยที่เกินความคาดหมายของฝ่ายเผด็จการ

ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากอาศัยพลังการนำที่ขาดเสียมิได้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ว ที่สำคัญยังเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของคนเสื้อแดงหลายล้านคนทั่วประเทศที่เคลื่อนไหวรณรงค์สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างทุ่มเทชีวิต

ฝ่ายเผด็จการตระหนักแล้วว่าแนวร่วมคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยคือปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้พรรคเพื่อไทยฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่หมด ตราบใดที่แนวร่วมนี้ยังคงอยู่และเข้มแข็ง ฝ่ายเผด็จการจะไม่มีวันได้ชัยชนะในเวทีการเลือกตั้งภายใต้เสื้อคลุมรัฐสภา

ฉะนั้นยุทธศาสตร์ประการหนึ่งของฝ่ายเผด็จการในการทำลายขบวนประชาธิปไตยคือ ต้องทำลายแนวร่วมคนเสื้อแดง-พรรคเพื่อไทย

ในระหว่างการคัดสรรบุคคลเข้าสู่ฝ่ายบริหารได้มีความสับสนถึงบทบาทของขบวนการเสื้อแดง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับพรรคเพื่อไทย เกิดการถกเถียงและเกิดความเข้าใจผิดในหมู่คนเสื้อแดงและแกนนำ นปช. บางคนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย เปิดช่องให้ฝ่ายเผด็จการใช้สื่อมวลชนในมือและสายลับบนสื่อออนไลน์ปล่อยข่าวลือ สร้างข่าวเท็จ ยุแหย่ตอกลิ่มเพื่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย

ในการนี้คนเสื้อแดงต้องหนักแน่น มีสติ ยึดภาพรวมทั้งหมดของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง มองทะลุภาพลวงตาของการเลือกตั้งและเสื้อคลุมรัฐสภาให้เห็นถึงเนื้อในที่ยังเป็นระบอบเผด็จการปัจจุบัน มุ่งหน้าไปให้ถึงเป้าหมายประชาธิปไตยที่แท้จริงในขั้นสุดท้าย จะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อการยุแหย่และสงครามจิตวิทยาของฝ่ายเผด็จการอย่างเด็ดขาด

คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยนั้นต้องการซึ่งกันและกัน ขาดจากกันมิได้ในการต่อสู้เพื่อไปบรรลุประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยที่ปราศจากคนเสื้อแดงจะแพ้เลือกตั้ง จะถูกกระบวนการตุลาการและอำนาจทหารทำลายได้โดยง่าย

ส่วนคนเสื้อแดงที่ปราศจากพรรคเพื่อไทยจะอ่อนแอ ไม่มีที่ยืนในการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น ไม่มีกำลังที่จะต่อกรกับเผด็จการในแนวรบรัฐสภาและสนามเลือกตั้ง ไม่มีอาวุธในมือใดๆที่จะสกัดอำนาจในระบบของฝ่ายเผด็จการ ความแตกแยกระหว่างคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยคือความพ่ายแพ้ของขบวนประชาธิปไตย

2.พรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นระบอบเผด็จการแฝงเร้นของพวกจารีตนิยม พรรคเพื่อไทยจึงถูกจำกัดขอบเขตและมัดมือมัดเท้าทั้งในด้านกิจกรรม การเคลื่อนไหว และตัวบุคคลด้วยโซ่ตรวนทางกฎหมายของพวกเผด็จการ ถึงกระนั้นสนามรบการเลือกตั้งก็เป็นการต่อสู้ที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีจุดแข็งและมีโอกาสชนะได้มากที่สุด อีกทั้งเป็นสนามรบที่ฝ่ายเผด็จการจะต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ไม่ช้าก็เร็ว เว้นแต่จะหันไปก่อรัฐประหารและปกครองด้วยเผด็จการที่เปิดเผยยาวนาน
ในแนวรบการเลือกตั้ง หน้าที่ของพรรคเพื่อไทยคือต้องชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดจึงจะสามารถจัดตั้งคณะรัฐบาลได้ ในการนี้พรรคเพื่อไทยต้องโน้มน้าวจูงใจคนจำนวนมากให้หันมาลงคะแนนเสียง ในสภาวะปัจจุบันคนเสื้อแดงยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ลำพังแต่คะแนนเสียงของคนเสื้อแดงนั้นไม่พอจะทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้ ยังต้องอาศัยคะแนนเสียงของประชาชนจำนวนมากที่มิใช่คนเสื้อแดงแต่มีจิตใจที่เป็นธรรม หรือประชาชนทั่วไปที่เบื่อหน่ายความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และคาดหวังการแก้ปัญหาของประเทศจากพรรคเพื่อไทย

ฉะนั้นในการหาเสียงเลือกตั้ง การออกแบบนโยบาย ไปจนถึงการจัดตั้งคณะรัฐบาล และการคัดสรรรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยจึงต้องคำนึงถึงคะแนนเสียงทั้งหมด มิใช่คะแนนเสียงของคนเสื้อแดงเท่านั้น และรัฐบาลที่จัดตั้งโดยพรรคเพื่อไทยต้องเป็น “รัฐบาลของคนไทยทุกหมู่เหล่า” ที่มุ่งบริหารงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งประเทศ

ภารกิจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงเป็นการเดินนโยบายสองขา คือด้านหนึ่งบริหารประเทศ แก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างรีบด่วนและได้ผล เพื่อรักษาความเชื่อมั่นและเพิ่มความนิยมในหมู่ประชาชนส่วนข้างมาก ยึดกุมชัยชนะในสนามรบการเลือกตั้งไว้ให้มั่นเพื่อสู้กับฝ่ายเผด็จการในระยะยาวต่อไป

อีกด้านหนึ่งต้องดำเนินการต่อสู้ทางประชาธิปไตย เสริมความเข้มแข็งให้กับขบวนการเสื้อแดง เพื่อเป็นอาวุธในการรับมือและตอบโต้การรุกทำลายของฝ่ายเผด็จการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในการนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องดำเนินมาตรการรูปธรรมหลายประการ ได้แก่ การปลดปล่อยคนเสื้อแดงหลายร้อยคนที่ถูกคุมขังอยู่ทั่วประเทศ การชดเชยและเยียวยาแก่ประชาชนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ดำเนินการสอบสวนเปิดเผยความจริงทั้งหมดที่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ประชาชนในครั้งนั้น นำเอาผู้สั่งการฆ่าประชาชนมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

ที่สำคัญคือเริ่มต้นขั้นตอนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อขจัดเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยที่ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

แต่ในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญนั้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมิอาจกระทำได้แต่ลำพัง แม้จะชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่คะแนนเสียงในรัฐสภายังก้ำกึ่ง และรัฐบาลมีอำนาจที่แท้จริงจำกัด ต้องบริหารงานอยู่ในกรงเล็บของตุลาการและกองทัพที่ฝ่ายเผด็จการอาจใช้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลในโอกาสที่เหมาะสม ขบวนการเสื้อแดงต้องเรียกร้อง กดดัน และประสานหนุนช่วยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้ไปดำเนินการต่อสู้ทางประชาธิปไตยอย่างมีจังหวะก้าวและเด็ดเดี่ยว

3.คนเสื้อแดง-แกนนำ นปช.

ในการคัดสรรตัวบุคคลมาเป็นรัฐมนตรีนั้นไม่มีแกนนำ นปช. ได้เข้าสู่ฝ่ายบริหารเลย ทำให้คนเสื้อแดงและแกนนำ นปช. บางคนแสดงความไม่พอใจ ด้วยอ้างเหตุว่าการกีดกันคนเสื้อแดงจากฝ่ายบริหารแสดงว่าพรรคเพื่อไทย “ประนีประนอมและมีข้อตกลงลับกับเผด็จการ” หรือ “พรรคเพื่อไทยเห็นคนเสื้อแดงมีภาพพจน์เผาบ้านเผาเมืองจึงต้องกันออกไป” เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเข้าใจผิดของคนเสื้อแดงและแกนนำ นปช. บางคนในสาระสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้
ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะกันแกนนำ นปช. ออกไปจากฝ่ายบริหารด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่เมื่อมองจากผลลัพธ์ทางยุทธศาสตร์ของภาพรวมทั้งหมดแล้วต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ประการแรก จุดประสงค์ของการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยแกนนำ นปช. คือต้องการ “สิทธิคุ้มครองทางสภา” เพื่อรักษาสถานะการนำขบวนการเสื้อแดงไว้ได้แม้ในยามคับขัน ดังเช่นที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้แสดงให้เห็นมาแล้ว แต่การได้เป็น ส.ส. แล้วเข้าไปสู่ตำแหน่งทางบริหารอีกนั้นเป็นการขัดต่อจุดประสงค์นี้โดยตรง เพราะแกนนำ นปช. ที่มีตำแหน่งบริหารจะไม่อาจเป็นแกนนำ นปช. ได้อีกต่อไป

ประการที่สอง การนำเอาแกนนำ นปช. เข้าสู่ฝ่ายบริหารในขณะนี้เป็นการเปิดศึกข้อขัดแย้งที่เผชิญหน้าเร็วเกินไปและโดยไม่จำเป็น คือได้ใจคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่ไม่มองภาพใหญ่ แต่ต้องเผชิญกับแรงต่อต้านทั้งจากสื่อมวลชน ชนชั้นกลางในเมือง และฝ่ายเผด็จการทันที คณะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงต้องการเวลาในการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน และสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับตนเอง รวมทั้งต้องการเวลาให้คนเสื้อแดงได้ปรับขบวนเพื่อรับมือกับการรุกกลับของฝ่ายเผด็จการ

ประการที่สาม แนวรบนอกสภากับแนวรบในสภานั้นแยกจากกันแต่ก็เดินควบคู่ไปด้วยกัน ขบวนการเสื้อแดงเป็นกองทัพนอกสภาที่เข้มแข็งและกว้างใหญ่ไพศาล เป็น “ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก” ของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย “สองแนวรบ สองกองทัพ” มีหน้าที่ต่างกัน แต่ประสานกันไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันคือ ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

สำหรับคนเสื้อแดงแล้วจุดมุ่งหมายของการได้ชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จไม่ใช่เพื่อให้แกนนำคนเสื้อแดงบางคนได้เป็นรัฐมนตรี แต่เพื่อให้ได้รัฐบาลที่เป็นมิตรกับฝ่ายประชาธิปไตย เปิดช่องให้คนเสื้อแดงได้ปรับขบวน พัฒนาตนเอง ยกระดับความคิดและการจัดตั้ง เสริมความเข้มแข็งและมีความพร้อมยิ่งขึ้น เพื่อเผชิญกับการรุกกลับของฝ่ายเผด็จการที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้

แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะมีอำนาจบริหารจำกัด แต่ก็เป็นเงื่อนไขเพียงพอที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้อาศัยเป็นประโยชน์ ยิ่งฝ่ายประชาธิปไตยขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมตัวจัดตั้งเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ชัยชนะขั้นสุดท้ายของประชาธิปไตยก็ยิ่งใกล้เข้ามา สิ่งที่ขบวนประชาธิปไตยต้องเร่งกระทำโดยเร็วคือขยายจำนวนคนที่ “รู้ความจริง” ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขยายการจัดตั้งในระดับรากฐานให้กว้างขวาง เช่น “หมู่บ้านเสื้อแดง” ในภาคอีสาน และ “บ้านธงแดง” ในภาคเหนือ บนพื้นฐานของภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นพื้นบ้าน ประสานกับขบวนประชาธิปไตยระดับรากหญ้า ตลอดจนการรวมกลุ่มคนเสื้อแดงในภาคกลางและเมืองใหญ่ตามสภาพสังคมและวัฒนธรรมแต่ละท้องที่

เร่งขยายผลสะเทือนของประชาธิปไตยไปในหมู่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการให้มากที่สุด ขยายเครือข่ายสังคมออนไลน์เชื่อมกับเครือข่ายบนดินให้ทั่วถึง จัดตั้งวิทยุชุมชนให้เพิ่มขึ้นครบทุกอำเภอและตำบลทั่วประเทศ จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเพิ่มขึ้นอีกในประเทศเพื่อนบ้าน ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ภาษา และวัฒนธรรมทั่วประเทศ

ทั้งหมดนี้คือการเตรียมพร้อมกองทัพนอกสภา เพื่อรับมือกับการรุกกลับของฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมที่จะกระทำต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างแน่นอน

บัดนี้ฝ่ายเผด็จการได้ใช้สรรพาวุธที่มีอยู่จนหมดแล้ว พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องซ้ำรอยเดิม คือการใช้อันธพาลการเมืองบนท้องถนน ใช้พรรคประชาธิปัตย์ก่อการภายในสภา ทำให้รัฐบาลไม่อาจบริหารงานได้ แล้วใช้ตุลาการในมือมาทำลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และในที่สุดถ้าล้มเหลว หนทางสุดท้ายก็คือรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 324 วันที่ 20 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 หน้า 7 คอลัมน์ เวทีความคิด โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
http://redusala.blogspot.com

ไม่มี พ.ร.ก.ฉบับไหนอนุญาตให้ฆ่าคน
ไม่มี พ.ร.ก.ฉบับไหนอนุญาตให้ฆ่าคน
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 324 ประจำวัน จันทร์ ที่ 22 สิงหาคม 2011
         โดย วัฒนา อ่อนกำปัง

ผศ.ดร.จารุพรรณ กลุดิลก อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 1 ใน 3 อาจารย์ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกับคนเสื้อแดง เชื่อว่าต่อนี้ไปความจริงจะปรากฏว่าใครคือคนสั่งให้สังหารหมู่ในเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553 เพราะเชื่อว่าไม่มี พ.ร.ก. ฉบับไหนอนุญาตให้ฆ่าคนได้โดยไม่มีความผิด

การทำงานของคนเสื้อแด

เป้าหมายของคนเสื้อแดงคือการสร้างประชาธิปไตยและพยายามให้ประชาชนมีอำนาจในรัฐสภาอย่างแท้จริงด้วยการผลักดันกฎหมายต่างๆ นอกจากนี้จะดูว่าทำไมคนเสื้อแดงถึงไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเราต้องดูแลและเยียวยา รวมถึงการตรวจสอบการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง 91 ศพที่ยังไม่ชัดเจน ส่วนนี้ต้องเร่งรัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อีกส่วนหนึ่งคือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งจะมีคณะทำงานในแง่นิติวิทยาศาสตร์ เราจะหวังอะไรกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่ได้ เพราะช้าเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยืนยันว่า 6 ศพเกิดจากเจ้าหน้าที่และทั้งทหาร แต่อีก 69 ศพบอกว่ายังไม่ทราบสาเหตุ ตรงนี้เป็นไปได้อย่างไร เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ชัดเจน เวลาชัดเจน ต้องมีข้อสันนิษฐานบ้าง ตรงนี้ทั้งโลกเชื่อไปแล้วว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องออกมาชี้แจง

จะมีการย้ายอธิบดีดีเอสไอหรือไม่

มองว่าไม่ต้องย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ แต่นายธาริตต้องพิจารณาว่าที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่สมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาตัวเองและฟังเสียงสังคมบ้าง ไม่จำเป็นต้องย้าย แต่ควรทบทวนว่าหน้าที่ข้าราชการได้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง

สิ่งสำคัญที่สุดคือข้อมูลที่นายธาริตมีอยู่อาจหลุดไปอยู่กับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลใหม่จะมีการบิดเบือนข้อมูลหรือไม่ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะประชาชนจับตาดูเหตุการณ์อยู่ เขาเรียกว่ากำแพงมีหู ประตูมีช่อง ทางที่ดีควรทำงานอย่างตรงไปตรงมา ขณะนี้ทั้งโลกเขามองเห็น รวมทั้งฮิวแมนไรท์วอทช์และองค์กรนานาชาติมีข้อสรุปออกมาเหมือนกัน ฉะนั้นกรรมการสิทธิต้องอธิบายกับองค์การเหล่านั้นว่าทำไมผลสอบสวนจึงแตกต่างจากเขาสิ้นเชิง

กรณีที่ฟ้องไอซีซียังค้างอยู่

ล่าสุดอัยการขององค์การสหประชาชาติ (อียู) ที่จะฟ้องรัฐบาลไทยกรณี 91 ศพ มีหลายศาลสามารถพิจารณากรณีนี้ได้ เพราะเป็นข้อตกลงและเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ต้องรอดูว่าศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ไอซีซี) จะตอบรับอย่างไรบ้าง ไอซีซีสามารถปฏิเสธเราได้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ แต่ด้วยข้อมูลที่แน่นหนาทำให้ไอซีซีไม่สามารถปฏิเสธกรณีของคนไทยได้ ถามว่าทำไมไอซีซีไม่ปฏิเสธตั้งแต่ต้นหากหลักฐานไม่แน่นหนาพอ ตรงนี้ทำให้ทั้งโลกเห็นแล้วว่าเหตุผลที่จะสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษในศาลไอซีซีได้ก็มีน้ำหนักพอสมควร

วันนี้เขาเห็นชัดว่าเกิดการสังหารหมู่ในประเทศไทยภายใต้การบริหารงานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอภิสิทธิ์จะอธิบายอย่างไรในเมื่อคนทั้งโลกเห็นแล้วว่าคนที่เสียชีวิตเขามาเรียกร้องประชาธิปไตย เขามีมือเปล่า ดังนั้น ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เป็นผู้สั่งการต้องรับผิดชอบในฐานะที่สมคบคิดกัน

ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศดีใจแม้จะทุลักทุเล หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แขวน ส.ส. จำนวนหนึ่ง โดย ส.ส. เหล่านั้นบริสุทธิ์ ทำให้เกิดช่องว่างหรือสุญญากาศในประเทศ ถามว่าเราจะออกแบบให้ประเทศเป็นแบบนี้ทุกครั้งหรือไม่ ประชาชนกำลังมีความสุขอยู่ดีๆ หุ้นกำลังขึ้นอยู่ดีๆ พอ กกต. แขวน ส.ส. เสถียรภาพของประเทศก็ตกลงทันที มีข่าวลือต่างๆนานามากมาย ทำให้ประเทศจมดิ่งลงไปอีก ฉะนั้นช่วงเวลาที่ กกต. แขวนว่าที่ ส.ส. จะทันการณ์กับการออกแบบรัฐบาลใหม่หรือไม่ ทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือไม่ เรื่องนี้ในอนาคตเราต้องทบทวนว่าจะแก้ไขอย่างไร

การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ

ในฐานะนักวิชาการที่จับตาดูคนเสื้อแดงมาโดยตลอด คนเสื้อแดงไม่เคยเรียกร้องให้นิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะพอพูดถึงนิรโทษกรรมก็คือการผ่านการกระทำผิดมาแล้ว ตรงนี้เรายังไม่ทราบข้อเท็จจริง เราต้องการทราบข้อเท็จจริงก่อนว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเราค่อยมาหาว่าคนไหนเป็นคนกระทำผิดกันแน่

ทำไมการคืนความยุติธรรมยังไม่เริ่ม

ระบบเดิมติดอยู่กับเรื่องโครงสร้างค่อนข้างเยอะ ดังนั้น การที่จะให้โครงสร้างเปลี่ยนและทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้นต้องใช้เวลา ที่จะทำให้ฝ่ายที่ต้องสูญเสียอำนาจไปพ้นจากความกลัวและยอมที่จะทำให้อำนาจเท่าเทียมกันมากขึ้น ปัจจุบันคนเสื้อแดงยังติดคุกอยู่จำนวน 112 คน ซึ่งต้องเช็กกับศูนย์ประชาชนอีกครั้ง โดยจะมีการแถลงการณ์เร็วๆนี้ หลังจากนี้จะทยอยประกันตัวออกมา แต่ติดเงื่อนไขที่เงินประกันตัวไม่เพียงพอ ซึ่งกรมบังคับคดีเองก็มีเงินช่วยเหลือไม่ถึงที่จะไปใช้ประกันตัว รัฐบาลต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แต่ถ้ารัฐบาลเข้าไปช่วยอาจจะช้ากว่า จึงมีการขอใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของคนในพื้นที่ประกันตัวออกมาซึ่งรวดเร็วกว่า

การเยียวยาผู้บาดเจ็บล้มตาย

จริงๆแล้วการสูญเสียประเมินเป็นค่าเงินไม่ได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่านั้นคือการกระทบกระเทือนจิตใจของครอบครัวผู้ที่สูญเสีย ที่คงไม่มีอะไรมาเยียวยาได้เป็นรูปธรรม แต่ตัวเงินที่พูดกันขึ้นมาทุกวันนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาพูดกันว่าจะมีการเยียวยาเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อการเสียสละของเหล่าวีรชนและคนเสียชีวิตทั้งหลาย
เงิน 10 ล้านบาทเป็นเพียงแค่ตัวเลขกลมๆเท่านั้นเอง การเยียวยาควรจะได้มากกว่านั้นด้วยซ้ำ อยากถามว่ากรณีที่นายอภิสิทธิ์บอกว่าในสมัยเขามีการตั้งกองทุนและให้ความช่วยเหลือไปแล้ว ตรงนี้พิสูจน์ได้หรือไม่ เพราะเห็นเป็นเพียงแต่ข่าว แต่ในข้อเท็จจริงมีเพียงคุณอภิสิทธิ์ได้ติดต่อกับกรมบังคับคดีให้ช่วยเหลือ ดูแลสิทธิของผู้ต้องขัง ซึ่งกรมบังคับคดีได้ยกตัวอย่างของการตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เป็นการริเริ่มจากคุณอภิสิทธิ์

ทั้งนี้ เพราะคุณอภิสิทธิ์เป็นผู้ที่มีอำนาจในขณะเกิดการสังหารหมู่คนเสื้อแดง ตรงนี้ไม่มีอะไร ลบล้างไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณอภิสิทธิ์จะแก้ไขได้คือ ออกมายอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในวันนั้นคืออะไร นั่นคือสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับหน้าที่ของคุณอภิสิทธิ์

“สุเทพ” ว่าคนเสื้อแดงทำร้ายประเทศไทย

ก็เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาของคุณสุเทพคนเดียว ทั้งโลกเห็นว่าคนเสื้อแดงมีอุดมการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชน ตรงนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจน ต่างประเทศก็ชื่นชม และถือเป็นชัยชนะของประเทศไทยด้วย และหลายๆฝ่ายจากทั่วโลกก็แสดงความยินดีกับคนเสื้อแดงและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่าประชาชนเข้มแข็ง และจะไม่เกิดการรัฐประหารอีกในประเทศไทย

คนเสื้อแดงไม่ค่อยพอใจเพื่อไทย

เชื่อว่าเป็นความคิดเห็นอันแตกต่างหลากหลาย แต่มีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมของประชาชน ในระหว่างทางอาจมีขรุขระอยู่บ้าง มีความขัดแย้งอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย แต่จะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากมีคนเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้น ก็จะได้ความรู้และกระบวนการใหม่ที่จะทำให้ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกันมากขึ้นในอนาคต

คนเสื้อแดงจะตีห่างเพื่อไทย

ทุกอย่างเป็นไปได้หมดในกระบวนการประชาธิปไตย ถ้าเรามองดูตัวอย่างหลายๆประเทศมหาอำนาจก็จะมีกลุ่มที่มีอุดมการณ์ชัดเจนแยกย่อยเป็นกลุ่มต่างๆมากมาย ตรงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดในกระบวนการประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเสื้อแดงก็อาจมีแดงอ่อน แดงเข้ม เป็นสิทธิของเขาที่จะรวมกลุ่มกันภายใต้กติกาประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ วันหนึ่งอาจเป็นการทำงานที่คู่ขนานกับพรรคเพื่อไทยก็ได้ ซึ่งก็เป็นไปได้ อาจจะเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ อาจเป็นส่วนที่ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยและสิทธิของประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ความจริง 13 ศพเป็นอย่างไ

ตรงนี้ความจริงเปิดเผยทีละเล็กทีละน้อย และเราต้องการให้คนที่อยู่ในตำแหน่งทำงานอย่างตรงไปตรงมา ถ้าคุณธาริตเห็นว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ควรจะทำงานอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่ประชาชนเรียกร้อง ได้รับใช้เจตจำนงของประชาชนจริงๆ ก็ยินดีกับคุณธาริตด้วย ในขณะที่คุณธาริตไร้ความกดดันก็สามารถอำนวยความยุติธรรมได้ ตรงนี้อาจจะวิเคราะห์ได้ใน 2 ประเด็นคือ 1.ท่าทีเปลี่ยนไปเนื่องจากไม่มีแรงกดดันจากภายนอก 2.เกิดจิตสำนึกขึ้นมาด้วยตัวเองว่าประชาชนต้องการความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรงนี้ผู้ที่มีหน้าที่ควรทำงานอย่างตรงไปตรงมา

ความจริงที่คนเสื้อแดงจำเป็นต้องรู้

ความจริงก็คือเหตุการณ์ทั้งหมดที่พัฒนาให้เกิดความรุนแรงคืออะไร สิ่งนั้นเป็นเพราะว่าประชาชนเรือนล้านได้มาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ถูกปิดกั้นโดยสื่อทั่วไป ถูกบิดเบือนข้อมูล ทำให้เกิดการพัฒนาความรุนแรงใช่หรือไม่ เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงนั้นคืออะไร ทั้งๆที่คนเสื้อแดงชุมนุมมา 4 ปีไม่เคยเกิดความรุนแรงเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องกลับมาถามว่ามีเหตุปัจจัยอะไร โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร ต้องวิงวอนว่าต่อไปอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ต้องให้พื้นที่ในการสื่อสารกับประชาชน ให้สื่อสารได้อย่างเป็นจริงมากขึ้น ไม่ใช่ถูกปิดกั้นสื่อแบบนี้ เชื่อว่าความจริงย่อมจะเปิดเผยขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้ทุกฝ่ายยอมรับแล้วว่าพลังของประชาชนยิ่งใหญ่มาก ดังนั้น ทุกฝ่ายก็ควรที่จะเรียนรู้และปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นถึงได้ปฏิบัติกับประชาชนสองมาตรฐานเช่นนั้น

มองบทบาทของกองทัพ

ส่วนตัวคิดว่ากองทัพควรจะเป็นกองทัพของประชาชน แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทหารมืออาชีพ ซึ่งมีงานมากมายที่เราต้องการความสามารถของกองทัพเข้ามาแก้ไขคือ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องภัยธรรมชาติ ไม่ควรเอากองทัพเข้ามาประหัตประหารประชาชนด้วยกันเอง อันนี้เป็นเรื่องที่เจ็บปวดและไม่ควรจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งกองทัพไม่สามารถที่จะไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ไม่สามารถที่จะประหัตประหารประชาชนได้ และกองทัพอยู่ภายใต้โลกใบนี้ซึ่งได้เซ็นสนธิสัญญามากมายในการเคารพความเป็นมนุษย์ ไม่สามารถที่จะเอากฎหมายเล็กกว่ามาประหัตประหารประชาชนด้วยกัน
กองทัพรับได้หรือไม่กับการตรวจสอบที่เกิดขึ้น

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีการสังหารหมู่คนเสื้อแดงก็ต้องมีคนออกมารับผิดชอบบ้าง คงจะทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้มีการซ้ำรอยอีกในอนาคต เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นเรื่องผิดพลาดก็ต้องออกมายอมรับกัน เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก ส่วนที่ออกมาบอกว่าทำตามกฎหมาย พ.ร.ก. และมีความคุ้มครอง และที่บอกว่าไม่ว่าการกระทำใดๆก็แล้วแต่ที่เกิดจาก พ.ร.ก. นี้ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ อยากจะบอกว่าไม่มี พ.ร.ก. ไหนที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสังหารประชาชนมือเปล่าแน่นอน ดิฉันไม่เชื่อว่า พ.ร.ก. จะให้อำนาจขนาดนั้น ที่จะให้ใครก็แล้วแต่สามารถสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้

การดำเนินคดีไปถึงไหนแล้ว

ในเมืองไทยยังไม่มีความคืบหน้า ครั้งล่าสุดนายสุเทพก็ยังไม่ได้ไปรายงานตัวต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพียงแต่ไปรายงานตัวที่สำนักงานดีเอสไอ ซึ่งจริงๆแล้วเราต้องมาตรวจสอบกระบวนการทางกฎหมายว่าถูกต้องหรือไม่ แล้วก็ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา ต้องดูว่าถ้าระยะเวลาเนิ่นนานเกินไปจะทำให้กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยทั้งหมด แล้วจำเป็นที่จะต้องใช้กระบวนการยุติธรรมสากลเข้ามา

บทสรุปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร

บทสรุปก็คือประเทศไทยจะได้รับประชาธิปไตย จะมีการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในฐานะที่เท่าเทียมกันกับประชาคมโลก และจะเกิดความเป็นธรรมสงบสุขในประทศไทยต่อไป

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 324 วันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2554 
พ.ศ. 2554 หน้า 18 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย วัฒนา อ่อนกำปัง
http://redusala.blogspot.com

ภาระหน้าที่ขบวนการเสื้อแดง
ภาระหน้าที่ขบวนการเสื้อแดง
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 324 ประจำวัน จันทร์ ที่ 22 สิงหาคม 2011
         โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

หลังจากชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา และการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมนั้น คำถามสำคัญเรื่องหนึ่งในขณะนี้คือ ขบวนการเสื้อแดงควรจะทำอะไร มีบทบาทเช่นไร?

นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เสนอว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวต่อไป ดังคำแถลงที่ว่า “แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้และได้จัดตั้งรัฐบาลเราก็จะยังเดินหน้าทวงความยุติธรรมให้กับวีรชนที่เสียชีวิตกว่า 90 ศพ และทวงความยุติธรรมให้ผู้ที่ถูกคุมขังในช่วงปีที่ผ่านมาให้ได้ นี่คือภาระหน้าที่สำคัญของพวกเรา นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลแล้วพวกเราจะหยุดเรื่องเหล่านี้ หยุดไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อไป”

ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กลับอธิบายว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะต้องการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองอย่างไม่รู้จักจบสิ้น การที่ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลเพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบ เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแล้วคนเสื้อแดงควรยุติบทบาทเสีย

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออีกส่วนหนึ่งที่ออกมาในเชิงยุยงว่าขบวนการเสื้อแดงควรจะต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย เพราะนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีความจริงใจ ใช้คนเสื้อแดงเป็นสะพานสู่อำนาจแล้วไม่แต่งตั้งคนเสื้อแดงเป็นรัฐมนตรีเลย เป็นลักษณะ “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล”

คงต้องอธิบายสถานะของขบวนการเสื้อแดงให้ชัดเจนเสียก่อนว่า ขบวนการเสื้อแดงไม่ได้เป็นกลไกของพรรคเพื่อไทย และยิ่งไม่ใช่กลไกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขบวนการเสื้อแดงคือแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป้าหมายการต่อสู้ของขบวนการเพื่อให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ ล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน ขบวนการเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยมีความสัมพันธ์ในฐานะ “แนวร่วม” ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยตามแบบแผนสากล ให้เสียงของประชาชนส่วนข้างมากได้รับการเคารพ

แต่พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองในระบอบรัฐสภายังต้องมีเป้าหมายรณรงค์ให้ชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศแทนพรรคฝ่ายอำมาตย์ ในกระบวนการนี้ขบวนการเสื้อแดงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพื่อให้แกนนำได้เป็นรัฐมนตรี แต่สนับสนุนเพื่อเป็นหนทางในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แกนนำบางคนจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เมื่อเป้าหมายหลักของขบวนการเสื้อแดงคือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยเช่นนี้ จึงต้องพิจารณาว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นเป็นมิตรหรือศัตรู
คำตอบในเรื่องนี้เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลเพื่อไทยต้องถือเป็นมิตรที่ร่วมรบมาด้วยกัน การจะให้ขบวนการเสื้อแดงแตกแยกและต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยในขณะนี้นั้นจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ในทางตรงข้ามขบวนการเสื้อแดงควรจะต้องอาศัยเงื่อนไขอันเป็นคุณนี้เพื่อการวางรากฐานให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยที่แน่นแฟ้น

ขบวนการเสื้อแดงยังมีหน้าที่รณรงค์ทางความคิดที่จะทำให้ประชาชนไทยส่วนข้างมากตาสว่าง เห็นภัยร้ายของฝ่ายอำมาตย์ที่เสแสร้งแสดงตัวเป็นคนดี แต่มีจิตสำนึกต่อต้านประชาธิปไตย มุ่งที่จะรักษาอำนาจในกลุ่มชนชั้นสูงจำนวนน้อย ต้องเข้าใจว่าฝ่ายอำมาตย์ยังมีรากฐานที่เข้มแข็งมากในการครอบงำทางความคิดประชาชน และยังคงควบคุมกลไกรัฐสำคัญคือ กองทัพ ศาล และระบบราชการ ดังนั้น รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงยังไม่มีความมั่นคง ขบวนการเสื้อแดงก็ยังไม่สามารถจะล้มเลิกหรือสลายได้

ภาระหน้าที่ในเงื่อนไขที่เป็นคุณเช่นนี้ ขบวนการเสื้อแดงจึงจะต้องเดินหน้าต่อไปใน 2 ลักษณะคือ การสร้างความเข้มแข็งทางความคิดแบบประชาธิปไตย โดยยึดมั่นว่าประชาชนเท่านั้นที่เป็นที่มาของอำนาจอันแท้จริง เพื่อให้ประชาชนปฏิเสธการรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้น และรู้เท่าทันพวกนักกฎหมายฝ่ายอำมาตย์ที่ใช้อำนาจตุลาการเป็นเครื่องมือในการทำลายประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาธิปไตยในประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับในอารยประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เป็นต้น ต้องไม่ไว้วางใจพวกนักวิชาการชนชั้นนำที่ชอบเห็นประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลาน เพราะหวาดเกรงอำนาจประชาชน

อีกด้านหนึ่งคือการสร้างความเข้มแข็งด้านองค์กร คือขยายการจัดตั้งองค์กรฝ่ายเสื้อแดงในหมู่ประชาชน เพื่อแบกรับงานในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และเพื่อเปลี่ยนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่เคยมีภาพเป็นแหล่งทำมาหากินของบรรดาผู้มีอิทธิพลเจ้าพ่อให้กลายเป็นองค์กรจัดตั้งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และเป็นหน่วยย่อยประชาธิปไตยในท้องถิ่น รวมถึงการจัดตั้งเอ็นจีโอฝ่ายเสื้อแดงและองค์กรกรรมกรเสื้อแดง สมาคมชาวนาเสื้อแดง เป็นต้น เพื่อที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้รากฐานประชาธิปไตยมั่นคงในหมู่ประชาชน

นอกจากนี้ยังมีงานเฉพาะหน้าของขบวนการเสื้อแดงที่ต้องกระทำ หรือจะต้องติดตาม อาทิ

1.การผลักดันให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง นักโทษก่อการร้าย และนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ยังถูกคุมขังอยู่จำนวนมาก หรือย่างน้อยต้องผลักดันสิทธิการประกัน นอกจากต้องให้มีการเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลที่ผ่านมา และท้ายสุดต้องผลักดันให้มีการสร้างอนุสาวรีย์แก่ประชาชนเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นวีรชนประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กระบวนการนี้ยังรวมถึงการสืบหาความจริงและนำผู้รับผิดชอบตัวจริงในการเข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษตามกฎหมายกระบิลเมือง

2.การผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปการเมืองสำคัญ ส่วนนี้ควรมีการรื้อพื้นรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ) เพื่อรณรงค์แก้ไขในประเด็นสำคัญที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น การมีวุฒิสมาชิกลากตั้ง การให้อำนาจล้นฟ้าแก่พวกตุลาการ การลงโทษทางการเมืองด้วยการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองผู้บริสุทธิ์ และการคงไว้ซึ่งบทบาทขององคมนตรี เป็นต้น

แต่แรกสุดและก่อนอื่นขอเตือนว่าขบวนการเสื้อแดงยังไม่ได้มีการฉลองชัยชนะครั้งใหญ่ของฝ่ายประชาชนที่มีเหนือพวกคนดีศรีอำมาตย์ทั้งหลาย ในการยกระดับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ผู้เขียนขอเสนอว่าวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 ประชาชนคนเสื้อแดงน่าจะจัดงานเลี้ยงโต๊ะฉลองใหญ่ทั่วประเทศ ฉลองทุกจังหวัดในชัยชนะของฝ่ายประชาชน เพื่อเหยียดเย้ยพวกอำมาตย์ ส่งสาส์นไปถึงพวกคนดีที่สนับสนุนรัฐประหารให้ได้อายว่าความพยายามในการย้อนประวัติศาสตร์ด้วยการรัฐประหารทำลายอำนาจประชาชนนั้นจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 324 วันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
http://redusala.blogspot.com

นิรโทษกรรม...ทางออกหรือทางตัน?


นิรโทษกรรม...ทางออกหรือทางตัน?

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 324 ประจำวัน จันทร์ ที่ 22 สิงหาคม 2011
         โดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทบรรณาธิการในเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชน ประจำวันจันทร์ที่ 15-วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2554 เรื่อง “ถ้าคิดจะนิรโทษกรรม” ซึ่งเรียบเรียงจากข้อมูลที่ ศ.ดร.นันทวัฒน์นำไปใช้ในการเสวนาทางวิชาการเนื่องในวันรพีหัวข้อ “นิรโทษกรรมทางการเมือง...ทางออกหรือทางตัน!?” ของคณะกรรมการกิจการนิสิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาดังนี้

เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนแล้วว่ารัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นเหตุของความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ หลังรัฐประหารมีการออกกฎระเบียบจำนวนมากโดยคณะรัฐประหาร รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ที่แม้จะมีเพียง 39 มาตรา แต่ก็ออกฤทธิ์ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญๆตามมามากมาย ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ไปจนถึงการยึดทรัพย์นักการเมือง นอกจากนี้ยังเกิดการชุมนุมทางการเมืองอีกหลายครั้งจากหลายฝ่าย สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตของพลเรือน ข้าราชการทหาร ตำรวจ มีผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก มีการฟ้องร้องเป็นคดีความในศาลแทบจะทุกศาลไม่น้อยกว่า 100 คดี เกิดความแตกแยกทางความคิดในหมู่ประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องจากหลายๆฝ่ายให้ผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหันหน้าเข้าหากันเพื่อสร้างความสงบให้กับประเทศชาติ ในบรรดาข้อเสนอที่จะทำให้เกิดความสงบในประเทศชาติมีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” ขึ้นเพื่อหาแนวทางสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศชาติ นอกจากนี้ยังมีอีกแนวทางหนึ่งเสนอให้มีการ “นิรโทษกรรม” แต่แนวทางในการนิรโทษกรรมนั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าไรนัก เพราะยังไม่มีการดำเนินการใดๆจากทุกๆฝ่าย นอกจากนี้ความคิดเรื่องนิรโทษกรรมที่เสนอสู่สาธารณะนั้น ผู้เสนอยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร จะนิรโทษกรรมเรื่องอะไร หรือนิรโทษกรรมให้กับใครบ้าง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เรื่องนิรโทษกรรมยังไม่มีความชัดเจนและไม่มีคำตอบว่าจะทำได้หรือไม่ อย่างไร

ในทางวิชาการมี 3 กรณีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด อาจจะเรียกว่าเป็นบทยกเว้นของความผิดก็ว่าได้ 3 กรณีที่ว่านี้คือ การอภัยโทษ การนิรโทษกรรม และการล้างมลทิน การอภัยโทษคือการให้อภัยในโทษที่กำลังได้รับอยู่ การอภัยโทษเป็นการยกโทษให้ทั้งหมด คือไม่ต้องรับโทษที่ยังมีอยู่อีกต่อไป หรือเป็นการลดโทษบางส่วน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของแต่ละบุคคลที่กำลังรับโทษอยู่ การอภัยโทษใช้สำหรับกรณีคดีถึงที่สุดแล้วและบุคคลกำลังได้รับโทษอยู่

ส่วนการนิรโทษกรรม ได้แก่ การทำสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมายและไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ผลคือผู้ที่ทำผิดแล้วได้รับนิรโทษกรรมจะถือว่าผู้นั้นไม่เป็นผู้ที่ทำผิดและไม่ต้องได้รับโทษ สำหรับการล้างมลทินก็คือการลบล้างมลทินที่มีอยู่อันเนื่องมาจากการได้รับโทษ เป็นการยกเลิกประวัติที่เคยได้รับโทษให้หมดไป

ในประเทศไทยมีการอภัยโทษ การนิรโทษกรรม และการล้างมลทินเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่ในที่นี้จะขอนำมากล่าวถึงเฉพาะการนิรโทษกรรมเท่านั้น ที่ผ่านมาเคยมีการนิรโทษกรรมแล้วร่วม 20 ครั้ง การนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นมีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหาร เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 หรือพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2521 หรือพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 หรือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำการกบฏ เช่น พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488 เป็นต้น

ในส่วนของรูปแบบการนิรโทษกรรมนั้น นอกจากการนิรโทษกรรมจะทำได้โดยการออกเป็นพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การนิรโทษกรรมยังสามารถเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย ดังเช่นในการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีการเขียนบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นการนิรโทษกรรมเอาไว้ในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ว่า

“บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
แม้กระทั่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตราสุดท้ายคือมาตรา 309 ที่บัญญัติว่า “บรรดาการใดๆที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้” ถือได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่มีผลเป็นการนิรโทษกรรมทั้งย้อนหลังและล่วงหน้าได้เช่นกัน

ผลของการนิรโทษกรรมก็จะเป็นไปตามที่บัญญัติเอาไว้ในกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างเช่น พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติ “นิรโทษกรรมอย่างกว้าง” เอาไว้ในมาตรา 3 ว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว ไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง”

ในขณะที่มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 ได้บัญญัติถึงการ “นิรโทษกรรมอย่างแคบ” คือนิรโทษกรรมเฉพาะการกระทำบางอย่างเอาไว้ว่า “บรรดาการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรซึ่งได้กระทำระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 และบรรดาการกระทำอันเป็นความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเนื่องจากการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการกระทำอันเป็นความผิดต่อชีวิต ให้ถือว่าการกระทำนั้นๆไม่เป็นความผิดอีกต่อไป”
ทั้งหมดก็คือบางส่วนของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการนิรโทษกรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมา

กลับมาสู่ปัจจุบัน ผมไม่ทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราทุกวันนี้นั้นต้องการ “นิรโทษกรรม” หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากคำตอบสุดท้ายของการจบสิ้นปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของประเทศอยู่ที่การนิรโทษกรรม คำถามที่ตามมาคือจะนิรโทษกรรมอะไรกันบ้าง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมานั้นมีมากมายหลายอย่างเหลือเกิน

ผมลองประมวลดูว่าจะต้องนิรโทษกรรมอะไรบ้างจากเสียงเรียกร้องของคนหลายๆกลุ่มแล้วพบว่ามีเรื่องใหญ่ๆที่อยู่ในความต้องการที่จะให้มีการนิรโทษกรรม 3 เรื่องด้วยกันคือ การยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เรื่องการคืนทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยึดทรัพย์จำนวน 76,000 ล้านบาทเศษไปเมื่อต้นปี 2550 และสุดท้ายคือเรื่องความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายๆครั้งในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา

เรื่องแรกคือ เรื่องการยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 เรื่องย่อยคือ การยุบพรรคการเมืองและการคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ โดยเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้น การนิรโทษกรรมคงไม่มีผลใดๆเกิดขึ้น เพราะพรรคการเมืองทั้งหลายถูกยุบไปแล้ว และบรรดาสมาชิกพรรคการเมืองเหล่านั้นก็ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่กันหมดแล้ว การนิรโทษกรรมให้กับเรื่องการยุบพรรคการเมืองจึงไม่เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น เว้นแต่ว่ายังมีคนอยากใช้ชื่อพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป!

ส่วนการนิรโทษกรรมเพื่อคืนสิทธิเลือกตั้งให้แก่บรรดากรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ที่ “เพิ่มโทษ” ให้กับพรรคการเมืองที่ถูกยุบว่าให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง และต่อมารัฐธรรมนูญปัจจุบันได้นำเอาการ “เพิ่มโทษ” ดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในมาตรา 237 วรรคสองด้วย ดังนั้น หากจะนิรโทษกรรมเรื่องดังกล่าวก็สามารถทำได้ด้วยการออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่าโทษของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องดังกล่าวมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากตลอดเวลาว่าโทษของการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคน ซึ่งอาจมีบางคนได้รับรู้หรือรู้เห็น หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเป็นการลงโทษที่รุนแรงและไม่ยุติธรรม

ในเรื่องนี้เองที่ผมมีความเห็นว่าการนิรโทษกรรมคงเป็นประโยชน์เฉพาะผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำนวน 200 กว่าคนเท่านั้น แต่โทษและความผิดในเรื่องดังกล่าวยังมีอยู่ และยังอาจเกิดกับพรรคการเมืองอื่นและกับกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นได้ (รวมทั้งพรรคเพื่อไทยด้วย) ด้วยเหตุนี้เองที่หากจะแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างตรงจุด นอกเหนือไปจากการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำนวน 200 กว่าคนแล้ว ยังอาจต้องทบทวนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวด้วยว่าสมควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีกในอนาคต

เรื่องต่อมาคือ เรื่องการนิรโทษกรรมเพื่อให้มีการคืนทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในความเห็นส่วนตัวแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการทั้งหมดโดย คตส. ก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะถูกส่งต่อมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนนำไปสู่คำพิพากษายึดทรัพย์ แต่เมื่อการยึดทรัพย์ทำโดยคำพิพากษาของศาล ซึ่งมีทั้งโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับไว้ หากจะมีการนิรโทษกรรมก็ต้องทำให้คำพิพากษาดังกล่าวสิ้นผลลง ซึ่งผมเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบตามมามากมาย รวมทั้งยังอาจเป็นประเด็นต่อเนื่องไปในอนาคตด้วยหากเราออกกฎหมายมายกเลิกเพิกถอนคำพิพากษาของศาล ดังนั้น ในขณะนี้คงต้องเคารพผลของคำพิพากษาที่ออกมา

แต่อย่างไรก็ตาม หากจะต้องเอาทรัพย์สินที่ถูกยึดไปคืนจริงๆก็พอมีทางอยู่บ้าง แต่คงไม่สามารถกล่าวในที่นี้ได้ เพราะอาจเกิดประเด็นใหม่ขึ้นมาเป็นข้อโต้เถียง ซึ่งจะกระทบกับบรรยากาศของการปรองดองที่กำลังจะเกิดขึ้นได้

ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมและก่อความไม่สงบในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ที่ดีที่สุดและถูกต้องเหมาะสมที่สุดก็คือ รอให้มีความชัดเจนก่อน ควรรอบทสรุปการทำงานของ คอป. ก่อนว่าปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้นความจริงคืออะไร ใครผิดใครถูก พูดกันง่ายๆก็คือ ต้องมีข้อยุติ ต้องมีผู้รับผิดชอบ ต้องทราบว่าใครเป็นผู้ทำผิด และต้องทำความจริงให้ปรากฏก่อน มิฉะนั้นเรื่องของ “ชายชุดดำ” “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “91 ศพ” จะยังคงเป็นประเด็นที่เราสงสัยกันอยู่ต่อไปไม่รู้จบ เมื่อมีข้อยุติที่ชัดเจนแล้วหาก คอป. เห็นว่าควรนิรโทษกรรมค่อยมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมกันต่อไป ซึ่งก็ทำได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม

เคยมีตัวอย่างของการนิรโทษกรรมลักษณะนี้มาแล้วคือ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2521 เป็นกฎหมายที่ออกมาในปี 2521 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยในคำปรารภของกฎหมายดังกล่าวได้เขียนคำอธิบายเจตจำนงของการนิรโทษกรรมเอาไว้ดีมากคือ โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่าการพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้ว และมีท่าทีว่ายืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นจะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างคนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร และกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

ทั้งหมดก็คือความเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องการนิรโทษกรรม และก่อนที่จะจบบรรณาธิการนี้ก็ขอฝากไปยังรัฐบาลใหม่ด้วยว่าทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมนั้นรัฐบาลไม่ควรทำเอง และไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆทั้งสิ้น เพราะถือว่ามีส่วนได้เสียโดยตรง หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะให้ คอป. ทำงานต่อไปก็คงจะต้องขอให้ คอป. พิจารณาเลยไปถึงว่าเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศควรมีการนิรโทษกรรมไหม นิรโทษกรรมใคร นิรโทษกรรมการกระทำใด เมื่อได้ข้อยุติที่ชัดเจนจาก คอป. แล้วรัฐบาลจึงค่อยไปดำเนินการต่อตามข้อเสนอของ คอป. ต่อไป

ท้ายที่สุดขอต้อนรับรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาล “ของประชาชน” ผมหวังว่ารัฐบาลของประชาชนคงปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด “เพื่อประชาชน” ครับ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 324 วันที่ 20 - 26 สิงหาคม 
พ.ศ. 2554 หน้า 5-6 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
http://redusala.blogspot.com

ฉีกหน้า‘มาร์ค’ ตบปาก‘กษิต’

“เรื่องท่านนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ดิฉันรู้ดีว่าต้องเจอแรงกดดันและมีคำถามที่เกี่ยวข้อง แต่พร้อมรับฟังและพร้อม พิสูจน์เรื่องต่างๆ ไม่เคยเบื่อที่จะต้องชี้แจง และไม่ขอเข้าไปแทรกแซงกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานดำเนินการไป ส่วนนโยบายในการติดตามเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับท่านนายกฯทักษิณ รัฐบาลชุดนี้จะให้เป็นเรื่องของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แทรกแซง อย่างเรื่องวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นที่เป็นข่าว ดิฉันยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เท่าที่ทราบเป็นฝ่ายเอกชนที่เขาเรียนเชิญท่านอดีตนายกฯทักษิณไปบรรยายตั้งแต่ก่อนดิฉันจะมาเป็นรัฐบาลเสียอีก เรื่องการอนุญาตให้เข้าประเทศเป็นเรื่องของทางการญี่ปุ่นจะเป็นผู้พิจารณาเอง ใครจะเข้าไปแทรก แซงไม่ได้อยู่แล้ว ดิฉันเรียนว่าไม่มีนโยบายทำอะไรพิเศษเพื่อท่านนายกฯทักษิณคนเดียวอยู่แล้ว”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันกรณีรัฐบาลญี่ปุ่นให้วีซ่าเป็นกรณีพิเศษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดเดินทางวันที่ 22 สิงหาคมนี้ เพื่อให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนญี่ปุ่น จากนั้นวันที่ 23 สิงหาคมจะไปบรรยายเรื่อง “ประชาธิปไตยไทย” ที่ชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของญี่ปุ่น และบรรยายเรื่อง “รูปแบบและบทบาทของเศรษฐกิจโลก” ที่สถาบันเจแปน-ไชน่า อาเซียน ออฟ อีโคโนมี ส่วนวันที่ 24 สิงหาคม จะไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยทามาและบรรยายเรื่อง “ปัญหาแผ่นดินไหวและสึนามิ” จากนั้นวันที่ 25-26 สิงหาคมจะเดินทางไปดูที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ

ปชป. กัดไม่ปล่อย


ด้านพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ใน ฐานะทีมกฎหมาย เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้สั่งให้ทีมกฎหมายติดตามข้อมูลเพื่อเอาผิดนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าให้การช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น ในฐานะที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนักโทษ ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ทั้งยังมีหมายจับในข้อหาก่อการร้าย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จึงถอดถอนพาสปอร์ต เพื่อล็อกสถานที่ให้อยู่ในที่ที่จำกัดและสะดวกในการติดตามตัวมาลงโทษตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นใครที่ช่วยเปิดช่องสกัด พ.ต.ท.ทักษิณก็เหมือนช่วยให้ผู้ที่ต้องโทษหลบหนี ซึ่งผิดกฎหมายชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพุ่งเป้าไปที่นายสุรพงษ์ ซึ่งไม่อาจปฏิเสธว่าเป็นรัฐมนตรี “สายล่อฟ้า” ตั้งแต่ยังไม่เข้ามารับผิดชอบอย่างเป็นทางการก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์และโจม ตีอย่างต่อเนื่องว่าเป็นคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณกำหนดให้ดำรงตำแหน่งนี้ แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะปฏิเสธว่าเป็นผู้พิจารณาด้วยตัวเอง แม้นายสุรพงษ์จะไม่มีประสบการณ์ด้านการทูต แต่มีความรู้ความสามารถด้านการค้าและธุรกิจระหว่างประเทศ

การที่นายอภิสิทธิ์ลงมาจับเรื่องนี้เองย่อมถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา และยังมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถากถางถึงพฤติกรรมของนายสุรพงษ์ว่าเปลี่ยนสี เพราะครั้งที่ยังเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นคนตรวจสอบ พ.ต.ท.ทักษิณเรื่องผลประโยชน์โทรคมนาคมจนถูกฟ้องมาแล้ว แต่วันนี้กลับไปช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ

ฉีกหน้า “มาร์ค”ตบปาก “กษิต”

นายยูกิโอะ เอดาโนะ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติวีซ่าเป็นกรณีพิเศษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้อง ขอมายังกรุงโตเกียว และรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายห้าม พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปยังประเทศใดๆ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงนำคำร้องนี้มาพิจารณาร่วมกับเงื่อนไขแวดล้อมอื่นแล้วจึงตัดสินใจออกวีซ่าให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นก็เป็นแค่รายงานข่าวที่ยังมีความสับสน
แต่อีกด้านหนึ่งมองว่าการที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้วีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เหมือนการ “ฉีกหน้านายอภิสิทธิ์และตบปากนายกษิต” นั่นเอง เนื่องจากการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว รัฐบาลนายอภิสิทธิ์แทบไม่มีคำตอบให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นเลย แม้สถานทูตญี่ปุ่นจะสอบถามและติดตามการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่รับผิดชอบตลอดเวลา รวมถึงภาพครั้งประวัติศาสตร์ของรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศญี่ปุ่นที่เดินทางมาสอบถามและยืนไว้อาลัยบริเวณที่นายฮิโรยูกิ มูราโมโต ถูกยิงเสียชีวิต แต่ดีเอสไอกลับให้คำตอบแค่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐยิง ต่อมาภายหลังยังอ้างว่ามีหลักฐานใหม่ นั่นคืออาวุธที่ยิงนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ไม่ใช่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งขัดกับหลักฐานคือกระสุนและพยานที่ให้ปากคำก่อนหน้านี้

“อินเตอร์โพล” แฉซ้ำ

ส่วน “หมายแดง” หรือ Red Notice ที่เป็นประกาศจับบุคคลที่ต้องการตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพลได้ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคประชาธิปัตย์ที่นำมาใช้เล่นงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายสุรพงษ์ก่อนหน้านี้ว่ามีความพยายาม ให้ถอนหมายแดงนั้น กลับปรากฏว่านายโรนัลด์ โนเบิล เลขาธิการอินเตอร์โพล ออกมายืนยันว่าไม่เคยมีหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะอินเตอร์โพลเห็นว่าเป็นคดีทางการเมือง เนื่องจากตามมาตรา 3 ของอินเตอร์โพลระบุว่า จะไม่มีการลง “Red Notice” กรณีผู้ต้องหาคดีทางการเมือง แบ่งแยกดินแดน หรือผู้ต้องหาเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อความเป็นกลาง

นอกจากนี้ในเว็บไซต์ของอินเตอร์โพลก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ถูกออกหมายจับแต่อย่างใด จึงมีการตั้งคำถามว่าแล้วเหตุใดรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ทราบเรื่องดังกล่าวมานานแล้วกลับ “ปิดเงียบ” และปล่อยให้สร้างกระแสอินเตอร์โพลว่า “ถอนหมายจับ” ขึ้นมา
ขณะที่ พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงกรณีข่าว “หมายแดง” ของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยร้องขอไปยังอินเตอร์โพลเมื่อ 2 ปีก่อนจริง แต่อินเตอร์โพลไม่ได้ขึ้นหมายแดงให้ และยังมีหนังสือตอบกลับมาว่ากรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เข้าเงื่อนไขการประกาศหมายแดงของทางอินเตอร์โพล หลังจากนั้นทางกองการต่างประเทศไม่ได้ร้องขอไปอีก

เช่นเดียวกับนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่าเรื่อง “หมายแดง” หรือหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณของอินเตอร์โพลนั้นเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนตั้งแต่ต้น เพราะที่ผ่านมาตำรวจสากลไม่เคยออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และไม่เคยเอาชื่อขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ที่ถูกจับ

รัฐบาลไทยไร้อำนาจ

กรณี พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปญี่ปุ่น นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายระหว่างประเทศ นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนบทวิเคราะห์การให้วีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า หากพูดตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องเคารพ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงสามารถเดินทางได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะไปประเทศใดประเทศหนึ่งหากเข้าไปโดยถูกกฎหมาย
อีกทั้งรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 82 ให้รัฐบาลไทยเคารพสิทธิมนุษยชนข้อนี้ แม้ให้ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ภายใต้เขตบังคับของกฎหมายไทย รัฐบาลไทยก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายไทยเช่นกัน
ที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณยังคงเป็นมนุษย์ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะต้องติดตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้หายไปไหน การได้รับวีซ่าญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมายเพื่อไปแสดงความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ หรือแสดงความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยธรรมชาติ จึงมิใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย และอยู่นอกอำนาจที่รัฐบาลไทยจะห้ามญี่ปุ่นได้ หากรัฐบาลไทยไปยุ่มย่ามเรื่องภายในจะเป็นการแทรกแซงและผิดกฎบัตรสหประชาชาติ

อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมืองและผู้ลี้ภัยของประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1953 แก้ไขล่าสุด ค.ศ. 2009 มาตรา 5-2 เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสามารถออกวีซ่าพิเศษให้กับผู้ที่ต้องโทษจำคุกได้หากเห็นว่าเป็นกรณีสมควร

“เมื่อรัฐบาลไทยไม่เคยชินกับการอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน และดันมีคนใจดีช่วยขอวีซ่าจนกลายเป็นข่าว จึงมีผู้ตั้งประเด็นว่าเป็นการทำให้การจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณลำบากขึ้นและผิดกฎหมายนั้นเป็น การฉลาดหรือไม่ก็น่าคิดอยู่”

“ทักษิณ” บินเหนือเมฆ

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิชาการ นักการเมือง และกลุ่มผู้มีอำนาจในไทยส่วนใหญ่ยังวิพากษ์วิจารณ์ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณกำลังสร้างปัญหาให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ได้ไม่นาน เพราะถ้าเคลื่อนไหวหรือให้สัมภาษณ์มากเท่าไรจะยิ่งกลายเป็น “เป้า” ให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปเป็นเงื่อนไขโจมตีและล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากขึ้นนั้น ต้องตั้งคำถามกลับเช่นกันว่าคนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณที่มีทั้งประสบการณ์ทางการเมืองและความรู้ความสามารถรอบด้านจะ “โง่” จนไม่รู้เลยหรือว่าใครคือศัตรู และการเคลื่อน ไหวของตนเองจะส่งผลอย่างไรกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์

โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศอย่าง ถี่ยิบ รวมถึงการเป็นข่าวไปทั่วโลกถึงการเดินทางเข้า ไปเยอรมนีและญี่ปุ่นนั้นล้วนต้องการจงใจให้เป็นข่าว ทั้งสิ้น พ.ต.ท.ทักษิณจึงไม่ใช่ “เป้าบิน” แต่น่าจะเป็น “จานบิน” ที่เหนือเมฆอย่างไร้ร่องรอยมากกว่า

ที่สำคัญการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งทำให้ “ความจริง” หลายอย่างปรากฏออกมา ซึ่งล้วนแต่เป็นการตบหน้ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์และ “มือที่มองไม่เห็น” ว่าที่ผ่านมาไม่ได้พูดความจริง หรือโกหกตอแหลเพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด อย่างกรณีหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณของอินเตอร์โพลที่ไม่เคยมีเลย

เช่นเดียวกับกรณีของรัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศก็เหมือนการตอกย้ำความไม่พอใจกรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ที่รัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ไม่ยอมทำ “ความจริง” ให้ปรากฏ

แม้แต่กรณีสมเด็จฮุน เซน ที่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็สั่งให้มีการเจรจาเจบีซีกับไทยทันที รวมถึงการเชิญ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปเยือนกัมพูชา ซึ่งเป็นการตบหน้ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และนายกษิต เพื่อให้ประชาคมโลกเห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

“ความจริง” ต้องปรากฏ

ดังนั้น การเมืองไทยจึงไม่ใช่แค่อำนาจรัฐเปลี่ยนไปแล้วจะทำให้คนเปลี่ยนไปด้วยเท่านั้น แต่คนไทยทั้งแผ่นดินต้องเปลี่ยนไปด้วย คือจะต้อง “เลิกดัดจริตและเลิกโกหกตัวเอง” ต้องยอมรับความจริงว่าวิกฤตการเมืองที่ทำลายบ้านเมืองมากว่า 5 ปีนั้นเกิดจาก “มือที่มองไม่เห็น” ที่สูญเสียอำนาจและผลประโยชน์จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณในอดีต จนนำมาสู่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้บ้านเมืองแตกแยกและแบ่งฝ่ายอย่าง ชัดเจนเท่านั้น แต่ยังสร้าง “มรดกอุบาทว์” โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับ “มดลูก คมช.” ที่ทำให้การเมืองการปกครองไทยพิกลพิการมาจนถึงทุกวันนี้

โดยเฉพาะมาตรา 237 ที่ให้ยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธินักการเมือง อย่างกรณีบ้านเลขที่ 111 และกลุ่ม 109 นั้นสะท้อนชัดเจนถึงความอัปลักษณ์ของรัฐธรรมนูญและการใช้อำนาจเผด็จการ จนทำให้พรรคการเมืองวันนี้ กรรมการบริหารแทบทุกพรรคต้องตั้ง “หุ่นเชิด” ขึ้นมาเป็นกรรมการบริหาร แม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้เป็นแม้แต่ “กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย” เลย

นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระต่างๆที่ไม่ต่างกับ “มรดกอุบาทว์” ของอำนาจเผด็จการ ซึ่งถูกวิพากษ์ วิจารณ์มาโดยตลอด ทั้งการเข้ามาของตัวบุคคลและ การใช้อำนาจสองมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ จนมีหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปทั้งรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกองทัพ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงเป็นคำตอบว่าคนไทยไม่ได้ “โง่-จน-เจ็บ” และยอมก้มหัวให้กับอำนาจเผด็จการใดๆ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมือง ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน หรือ “เกี๊ยะเซียะ” กับ “มือที่มองไม่เห็น” แต่ต้องเร่งทำความจริงให้ปรากฏ โดยเฉพาะวิกฤตบ้านเมืองที่ผ่านมาว่าใครคือต้นเหตุจนนำมาสู่การสังหารโหดประชาชนนับร้อย และบาดเจ็บพิการหลายพันคน ซึ่งที่ผ่านมานอกจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะไม่แสดงความ รับผิดชอบใดๆแล้ว ยังไม่มีการเยียวยาผู้เสียหายอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังมีความพยายามขัดขวางการเรียกร้องของคนเสื้อแดงที่ต้องการให้เยียวยาผู้เสียชีวิตคนละ 10 ล้านบาทอีกด้วย
จนนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องย้อนถามว่า

“ชีวิตคนมีค่ามากกว่า 10 ล้านบาทแน่นอน คนที่ตายไปเขาฆ่าตัวตายหรือเปล่า หรือไปฆ่าเขาตาย และเลิกตอบได้แล้วว่าคนที่ตายเอาหัวไปชนกระสุน ฉะนั้นคนที่ตายมีแต่ถูกทำให้ตาย จึงต้องชดใช้ ที่สำคัญคนที่ตายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้เกิดปฏิวัติรัฐประหารขึ้นในประเทศ”

“ยิ่งลักษณ์” ต้องกล้า

ขณะเดียวกันรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องกล้าที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำประชาธิปไตยและความยุติธรรมที่เป็นธรรมและเสมอภาคกลับคืนมาให้กับประชาชน โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและ สิทธิความเป็นมนุษย์ อย่างที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชน 65 ล้านคนลงประชามติ และมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาเป็นผู้พิจารณาว่าเหมาะสมที่จะแก้ไขหรือไม่

“ถ้าประชาชน 65 ล้านคนมีความเห็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะถือเป็นอำนาจที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ผมจึงเห็นว่าหากต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องขอความเห็นของประชาชนทั้ง 65 ล้านคน โดยให้ประชาชนยกร่างและแสดงความคิดเห็นให้เป็นอิสระของประชาชนทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณแม้แต่น้อย”

เส้นทางของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงต้องเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย และจะประมาทไม่ได้เลย เพราะตราบใดที่ “มือที่มองไม่เห็น” ยังควบคุมกลไกรัฐและเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งพรรคการ เมืองที่พร้อมจะก้มหัวและรับใช้เผด็จการ การใช้ “อำนาจพิเศษ” และ “วาทกรรมโกหกตอ แหล” เพื่อปล่อยข่าว ปลุกปั่นเพื่อทำลายพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเป็นไปได้ตลอดเวลา

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 324 วันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 16 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
http://redusala.blogspot.com

ขี้ขึ้นสมอง !
วัดปทุมวนาราม "ห้าม" เสื้อแดงทำบุญ

สงสัยกลัวเสื้อเหลืองไม่เข้าวัด



พระธรรมธัชมุนี
เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม

ภาพประชาชนเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม

คติธรรมประจำวัดปทุมวนาราม
"คุณมีสิทธิ์ตายที่นี่ แต่ไม่มีสิทธิ์ทำบุญที่นี่"


วัดปทุมห้ามเสื้อแดงทำกิจกรรม



ญาติคนเสื้อแดง เป็นงง วัดปทุมฯ ห้ามทำกิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศล  ต้องย้ายไปจัดที่แยกราชประสงค์แทน

บรรยากาศการบุญอุทิศส่วนกุศลให้กลุ่มคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มคนเสื้อแดง ได้ทยอยเดินทางมาที่วัดปทุมวนาราม เพื่อมาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับ 91 ศพที่เสียชีวิต แต่ก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากภายในวัดปทุมวนาราม ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมทำบุญภายในวัดปทุมฯ ส่งผลให้คณะผู้จัดงานจึงต้องย้ายสถานที่การทำบุญ มายังสี่แยกราชประสงค์ติดกับเซ็นทรัลเวิลด์

นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมลเกด อัคฮาด หรือน้องเกด หนึ่งในผู้เสียชีวิต กล่าวว่า การที่เราต้องย้ายมาทำบุญที่สี่แยกราชประสงค์ เนื่องจากเมื่อคืนทางกรรมการบริหารของวัด ไวยากรณ์วัด มรรคทายก ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า ไม่ให้เราไปทำบุญภายในวัด โดยที่ไม่บอกสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ซึ่งตนก็แปลกใจเพราะได้ทำหนังสือขออนุญาตทางวัดล่วงหน้าก่อนเป็นเวลาเกือบครึ่งเดือนแล้ว

ข่าว : ไทยโพสต์
20 สิงหาคม 2554
http://redusala.blogspot.com